ใครวางแผนจะไปเที่ยวญี่ปุ่น แล้วอยากจะลองซ้อมนั่งรถไฟฟ้า..ยานพาหนะยอดนิยมของคนญี่ปุ่น จะลองเลือกวิธีเดินทางไปขึ้นเครื่องด้วยบริการของ Airport Rail Link หรือที่เดี๋ยวนี้เรียกกันจนติดปากว่า Airport Link ก็น่าสนใจดีเหมือนกัน
ใครวางแผนจะไปเที่ยวญี่ปุ่น แล้วอยากจะลองซ้อมนั่งรถไฟฟ้า..ยานพาหนะยอดนิยมของคนญี่ปุ่น จะลองเลือกวิธีเดินทางไปขึ้นเครื่องด้วยบริการของ Airport Rail Link หรือที่เดี๋ยวนี้เรียกกันจนติดปากว่า Airport Link ก็น่าสนใจดีเหมือนกัน ยิ่งถ้าอยู่แถวกลางเมืองที่รถติดๆ หน่อย แล้วก็อยู่ใกล้เส้นทางเดินรถรถไฟฟ้า BTS หรือรถไฟใต้ดิน MRT ละก็การเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิสะดวกสบายขึ้นเยอะ ไม่ต้องนั่งลุ้นกับรถติดๆ ด้วยบริการของแท็กซี่ แล้วก็ไม่ต้องรบกวนใครไปส่งให้ต้องเกรงใจกันอีกด้วย…ลองซ้อมวิธีการนั่งรถไฟกันไว้ก่อน เผื่อจะได้อารมณ์การเดินทางแบบคนญี่ปุ่นเขาบ้าง ด้วยความที่หน้าตาของขบวนรถไฟฟ้า Airport Link นั้นค่อนข้างคล้ายคลึงกับที่ให้บริการกันอยู่ในญี่ปุ่นหลายสายเหมือนกัน (ถึงจะดูค่อนข้างจะ classic ไปสักหน่อย แต่ก็ใหม่ในบ้านเราละนะ)

หลังจากที่ Airport Link ทดลองเปิดมาตั้งแต่ 23 สิงหาคม แต่กว่าจะได้โอกาสไปใช้บริการก็ผ่านไปแล้วกว่า 2 เดือน มีธุระต้องไปสนามบินสุวรรณภูมิพอดีเมื่อเดือนตุลาคม เลยถือโอกาสลองของใหม่กันหน่อย ส่วนใหญ่เราก็มักจะต้องเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอยู่แล้ว ก็เลยพอจะรู้จักช่องทางเดินทางเข้า-ออกสนามบินสุวรรณภูมิอยู่บ้าง อย่างเช่น…ถ้าจะไปสนามบิน เราก็มักจะใช้บริการรถบัสโดยสาร ที่เข้าสุวรรณภูมิ จากบ้านเราก็มีสาย 554 ไปที่ Bus Terminal ก่อนจะนั่ง Airport Shuttle Bus (ฟรี) ไปที่ Passenger Terminal ก็ประหยัดดีเพราะค่ารถแค่ 35 บาท (แล้วแต่ระยะ) แต่ถ้ารีบ แล้วก็ไม่อยากต่อรถให้เสียเวลา ก็จะนั่งแท็กซี่ไปที่ Passenger Terminal เลย จากบ้านเราก็ประมาณ 270 บาท นี่ขนาดบ้านอยู่ไม่ไกลจากสนามบินเท่าไหร่นะเนี่ย แล้วถ้าท่านๆ จะต้องจ่ายค่าทางด่วนอีกละก็ เสียดายตังค์แย่ เอาเก็บไว้ช้อปที่ญี่ปุ่นก็พอได้อยู่นะ (งกเห็นๆ) สำหรับ Airport Bus Express หรือ Airport Limousine นั้นยังไม่เคยใช้บริการ ส่วนตัวเลือกใหม่ล่าสุดที่เราได้ไปทดลองนั่งมาแล้วก็คือ Airport Link




Airport Link นี้มีให้บริการกันอยู่ 2 สายคือ รถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) สถานีต้นทางอยู่ที่สถานีพญาไท (เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS สถานีพญาไท) ปลายทางสนามบินสุวรรณภูมิ จอดสถานย่อยครบทั้ง 6 สถานี คือ สถานีราชปรารภ มักกะสัน รามคำแหง หัวหมาย บ้านทับช้าง และลาดกระบัง (6 สถานี) ลองจับเวลาเล่นๆ ใช้เวลาในการเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง อีกสายหนึ่งคือ รถไฟฟ้าด่วน (Express Line) สถานีต้นทางคือสถานีมักกะสัน (ใกล้รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีเพชรบุรี) วิ่งแบบม้วนเดียวจบ รวดเดียวเลยไม่มีจอด ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 นาที ซึ่งเวลาที่ใช้นี้ต่างกันไม่มากเลย แต่ค่าโดยสารนี่สิ..ต่างกันจนต้องคิดแล้วคิดอีก



ตอนที่ทดลองนั่งเมื่อเดือนตุลาคม เรายังต้องซื้อตั๋วที่ห้องออกตั๋วอยู่เลย ตั๋วที่ได้ก็จะเป็นตั๋วกระดาษ จ่ายเงินไป 15 บาท นั่งได้ 1 เที่ยวตลอดสายสำหรับ City Line แต่ถ้ารีบอยากนั่ง Express Line ก็ต้องจ่าย 100 บาท ใช้สำหรับนั่งไป-กลับภายในวันเดียวกัน คือ 2 เที่ยวนั่นเอง แต่เมื่อ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา Airport Link เริ่มใช้ระบบการจ่ายค่าโดยสาร เป็นบัตร Smart pass กับเหรียญโดยสารแล้ว แต่ยังคงคิดค่าโดยสารแบบเดิมคือ 15 บาทตลอดสายสำหรับ City Line และ 100 บาท สำหรับ Express Line ไป-กลับ ภายในวันเดียว


สงสัยจริงๆ ว่าผู้ที่จะไปสนามบิน ถ้าจะต้องขึ้นเครื่องไปต่างประเทศ เขาจะไปประเทศไหนกันได้บ้าง แล้วจะได้กลับมาใช้ตั๋ว Express Line อีกเที่ยวให้ครบภายในวันเดียวกัน หรือถ้าผู้โดยสาร Airport Link พนักงานที่สนามบิน ต่อให้นั่งไป-กลับด้วย City Line ก็แค่ 30 บาทเอง ช้ากว่า Express Line แค่นิดหน่อย จะจ่ายเพิ่มทำไมกันตั้ง 70 บาท นั่ง City Line ไม่ดีกว่าเหรอ แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น ผู้โดยสารส่วนใหญ่ก็น่าใช้บริการ City Line มากกว่า ส่วน Express Line จะมีคนใช้บริการมั้ยเนี่ย (อุตส่าห์ทำ Terminal สำหรับ Express Line เสียใหญ่โต บรรยากาศก็น้องๆ Passenger Terminal ที่สุวรรณภูมิ แล้วยังทำเป็น Check-In Terminal เสียด้วย กลัวผู้โดยสารจะไป Check-In ที่สนามบินไม่ทัน ทั้งๆ ที่นั่งรถไฟไปอีกแค่ไม่กี่นาที ก็ได้แต่หวังว่าจะได้ใช้กันจนคุ้มกับงบประมาณที่ลงทุนไปนะ)


ข้อดีมากๆ ของ Airport Link ก็คือเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS (สถานีพญาไท) และรถไฟใต้ดิน MRT (สถานีเพชรบุรี) สะดวกกับนักเดินทางอย่างมาก ตอนที่ไปลองใช้เมื่อเดือนตุลาคมยังเห็นคนลากกระเป๋าเดินทางมาใช้บริการกันค่อนข้างเยอะทีเดียว แถมตามสถานีย่อย ก็มีคนขึ้น-ลงตลอดทางเลย ดีใจกับคนแถวนั้นที่คงจะเดินทางไปเรียน ไปทำงานกันได้สะดวกขึ้นเยอะ เห็นแล้วค่อยใจชื้นหน่อยว่าสร้างมาแล้วมีคนได้ใช้ประโยชน์จริงๆ
อีกอย่าง Airport Link ก็ใช้เวลาในการเดินทางไม่มาก ไม่ต้องนั่งลุ้นอยู่บนถนนตอนรถติดๆ โดยเฉพาะหน้าเทศกาล อย่าให้เสีย (บ่อยๆ) เหมือนรถไฟฟ้า BTS ก็แล้วกัน ไม่งั้น..ได้มีคนตก (พลาด) เครื่องบินกันบ้างหล่ะ

แต่ข้อด้อยก็มีนะ เช่น ถ้าใครอยากจะงีบบนรถไฟในการเดินทางช่วงสั้นๆ แบบนี้ ก็ลืมไปได้เลย เพราะเจ้าประตูรถไฟทั้ง City Line และ Express Line เวลาปิดเสียงจะดังจนแทบสะดุ้งตกเก้าอี้ทุกที ใครหลับได้ก็เก่งมาก ยอมยกนิ้วให้เลย
ส่วนถ้าใครต้องการนั่งสาย Express Line แต่เดินทางมาโดยรถไฟฟ้า BTS ก็ต้องนั่ง City Line จากสถานีพญาไท มาที่สถานีมักกะสันก่อน แล้วค่อยเดินตามหา Terminal สำหรับสาย Express Line ที่ดูโอ่โถงมาก แต่ไม่ค่อยเห็นมีผู้โดยสารเท่าไรเลยนะ กว่าจะเดินทางไปถึงสถานีปลายทางสุวรรณภูมิ รวมเวลาต่อรถไฟที่สถานีมักกะสันด้วย ก็ใช้เวลารวมกันกว่าครึ่งชั่วโมงเหมือนกัน จ่ายแพงขึ้นด้วย วิธีนี้เลยไม่แนะนำ ถ้ามาถึงสถานีรถไฟฟ้าพญาไทแล้วก็นั่งสาย City Line ไปเหอะ เข้าท่ากว่าเยอะ..

วันก่อน (เดือนธันวาคม) ได้ใช้บริการ Airport Link อีกที พอดีกับที่เป็นเวลาโรงเรียนเลิก คนทำงานก็เดินทางกลับบ้านกัน City Line คนแน่นเชียว นักเดินทางลากกระเป๋าทั้งเล็กทั้งใหญ่ก็มีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นฝรั่ง ไทย หรือจีน แต่ที่เห็นกันชัดๆ และทำให้รถแน่นจนต้องยืนเกาะเสากันล้มแทน ก็เห็นจะเป็นเหล่านักเรียนนักศึกษา และก็คนที่เลิกงานกลับบ้านกันซะเยอะ พอถึงสุวรรณภูมิจึงเห็นว่า..น้อยกว่าครึ่งที่มีสนามบินเป็นจุดหมายปลายทาง

สำหรับ Airport Link เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่หกโมงเช้า – เที่ยงคืน เช่นเดียวกับรถไฟฟ้า BTS และ MRT สะดวกและรวดเร็ว ไม่ต้องหงุดหงิดกับรถติด ไม่ต้องรบกวนใครให้ไปส่งที่สนามบินด้วย ก็ถือว่าน่าพอใจทีเดียว… แต่ถ้าใครใคร่ลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่มาก ก็พึงรับภาระ (สัมภาระ) ของท่านกันเองนะ
ขอเพิ่มเติมกันหน่อยว่า ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 2554 ทาง Airport Link จะเริ่มเก็บเงินตามระยะทางจริงกันแล้วนะ สำหรับ City Line ก็ 15 – 45 บาท ส่วน Express Line นั้น 150 บาท ตลอดสายนะจ้ะ
ที่มา: http://airportraillink.railway.co.th/th/index.html
เรื่องแนะนำ :
– เงินเยน
– Onsen สัมผัสไออุ่นแห่งน้ำพุร้อน
– Countdown in Japan (2011)
– Studio Ghibli
– มอง…มรดกโลกญี่ปุ่น