![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนต์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย
เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนาท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธใน www.marumura.com
เรนี แก็กนอน รักษาคำสัญญาปิดปากไม่เปิดเผยเรื่องของ ไอรา เฮยส์ ไว้แน่วแน่ จากนั้นก็เดินทางถึงวอชิงตันเมื่อ 7 เมษายน 2488 และกลายเป็น “วีรบุรุษ”ไปชั่วพริบตา ขณะที่เพื่อนตายอีก 2 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ยังไม่ได้เดินทางมาร่วมด้วย คือ เจมส์ แบรดลีย์ “ด็อก” ซึ่งกำลังรับการรักษาตัวจากบาดแผลปรุพรุนด้วยฤทธิ์สะเกิดระเบิดที่ขาอยู่ที่กวม ส่วน ไอรา เฮยส์ อินเดียนแดงหนุ่มก็ยังคงอยู่ร่วมกับกองร้อยของเขาบนเรือขนส่งที่กำลังมุ่งหน้าไปสมรภูมิแห่งใหม่พร้อมความลับที่ไม่ยอมปริปาก
เมื่อเรนีเข้าไปถึงห้องประชุมใหญ่ในกองบัญชาการนาวิกโยธินนั้น ก็พบว่าภาพทหารปักธงได้รับการขยายจนใหญ่มหึมา นายทหารยศสูงบอกให้เขาระบุรายชื่อนาวิกโยธินผู้ปักธงอีกครั้งหนึ่ง เขาก็บอกไป 5 ชื่อ เหมือนที่เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้คือ สแตรงค์, แบรดลีย์,เซาสลีย์, แฮนเซน และตัวเขาเอง แน่นอนว่าไม่มีไอรา เฮยส์ ที่เขาให้คำสัญญาไว้แล้ว

แต่ภาพที่ขยายใหญ่เบื้องหน้าทำให้พบความจริงว่า เหล่านาวิกโยธินที่ร่วมปักธงนั้น ไม่ได้มีเพียง 5 คนเท่านั้น แต่มีถึง 6 คน ดังนั้น-ใครคือคนที่ 6 ?
ถึงตอนนี้เรนีจึงไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องเปิดเผยนาวิกโยธินคนที่ 6 – ไอรา เฮยส์ จากนั้นแทบจะทันทีทันใด คำสั่งจากกองบัญชาการนาวิกโยธินที่วอชิงตันก็มีไปถึงหน่วยต้นสังกัดของเขาในแปซิฟิกให้ให้ส่ง “นาวิกโยธินคนที่ 6” มาทันที
พร้อมกับโศกนาฏกรรมแห่งชีวิตของ “ฮีโร” อินเดียนแดงที่จะติดตามมา…

เมื่อครั้งภาพนาวิกโยธินปักธงที่เกาะอิโวจิมาเผยแพร่ออกไปบนหน้า 1 หนังสือพิมพ์อเมริกันเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2488 นั้น เอ็ด บล็อก น้องชายของ ฮาร์ลอน บล็อก สมาชิกคนหนึ่งในกองร้อยอีซี่ที่รับภารกิจปักธงครั้งนี้ได้เห็นภาพนี้บนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าเช่นเดียวกัน และเมื่อมารดาของเขาเดินเข้ามาแล้วเหลือบมองไปบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ภาพนี้โดยยังไม่มีคำบรรยายระบุรายชื่อนาวิกโยธินในภาพ เธอก็ชี้ไปที่นาวิกโยธินคนหนึ่งที่หันหลังให้กล้องแล้วระบุว่า นั่นคือพี่ชายของเขา- ฮาร์ลอน น้องชายไม่ค่อยเชื่อเพราะเห็นแค่แผ่นหลัง แต่มารดาของเขาก็ยืนยันอย่างมั่นใจว่า เป็นภาพลูกชายของเธออย่างแน่นอน
เมื่อแรกเริ่มที่ภาพปักธงเผยแพร่ออกไปและได้รับความสนใจอย่างท่วมท้น ผู้สื่อข่าวประจำหน่วยนาวิกโยธินที่เกาะอิโวจิมาจึงพยายามค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อขยายความว่า นาวิกโยธินที่เห็นในภาพนั้นมีใครบ้างนั้น เขาประสบความยากลำบากมากเนื่องจากนาวิกโยธินของกองร้อยอีซี่เจ้าของภารกิจปักธงส่วนใหญ่ยังติดพันอยู่กับการรบที่ยังคงดุเดือด แต่เมื่อใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุด จึงได้พบกับ เรนี แก็กนอน
เรนีพิจารณาภาพถ่ายนั้นแล้วบอกชื่อมา 5 ชื่อ ได้แก่ แฟรงคลิน เซาสลีย์, ไมค์ สแตรงค์, จอห์น แบรดลีย์, ตัวเขาเอง และเฮนรี แฮนเซน ขาดไปชื่อหนึ่งคือ ไอรา เฮยส์ ตามคำสัญญา
แต่รายชื่อที่เรนีบอกไปนี้มีความผิดพลาดในชื่อสุดท้าย-เฮนรี แฮนเซน
เรนีเข้าใจว่า คนที่อยู่ขวาสุดที่กำลังโน้มไหล่ก้มตัวปักเสาธงและหันให้เห็นแต่เพียงแผ่นหลังนั้นคือ เฮนรี แฮนเซน จึงได้เอ่ยนามนี้ออกไป ขณะที่ไกลออกไปยังแผ่นดินแม่ มารดาของเพื่อนเขาคนหนึ่งยืนยันกับบุตรชายของเธอว่าเป็นภาพของบุตรชายที่รักของเธออีกคนหนึ่งที่กำลังรบอยู่ในแปซิฟิก-ฮาร์ลอน บล็อก

เมื่อความลับถูกเปิดเผย ไอรา เฮยส์ จึงถูกเรียกตัวกลับสหรัฐ พร้อมกับนาวิกโยธินชุดปักธงที่ยังมีชีวิตอีกคนหนึ่งคือ จอห์น แบรดลีย์ เพื่อมาสมทบกับเรนี แก็กนอน แล้วเตรียมออกเดินสายโปรโมตพันธบัตรสงครามต่อไป และขณะนั้นเอง ประธานาธิบดีรูสเวลต์ก็ถึงแก่อสัญกรรม
ทรูแมนขึ้นรับตำแหน่งแทน แต่แผนโปรโมทพันธบัตรสงครามนี้ก็คงเดินหน้าต่อไป
เมื่อไอราเดินทางมาถึงวอชิงตันแล้วเข้ารับฟังการบรรยายสรุปที่กองบัญชาการนาวิกโยธินสหรัฐนั้น ทันทีได้เห็นภาพขยายใหญ่อยู่ตรงหน้า เขาก็เห็นข้อผิดพลาดสำคัญขึ้นมาทันที
คนที่กำลังก้มลงปักคันธงลงบนพื้นเกาะนั้น ไม่ใช่ เฮนรี แฮนเซน แต่เป็น ฮาร์ลอน บล็อก ต่างหาก !!!
ไอรา เฮยส์ มั่นใจเช่นนั้นก็เพราะว่า ครั้งที่เขาได้รับหน้าที่วางสายโทรศัพท์ขึ้นไปยังยอดเขาซูริบายาชิแล้วได้รับคำสั่งให้ปักธงผืนที่สองนั้น มีเพียงเขากับเพื่อนอีก 3 คนรวมเป็น 4 คนคือ ฮาร์ลอน บล็อก, ไมค์ สแตรงค์ และ แฟรงคลิน เซาสลีย์ เท่านั้น ส่วนเรนี แก็กนอน กับ จอห์น แบรดลีย์ เพิ่งมาช่วยทั้ง 4 คนนี้ปักธงในตอนที่ถูกบันทึกภาพ จึงไม่ทราบรายละเอียดของเพื่อนๆ ได้อย่างชัดเจนเหมือนเขา
เมื่อบอกว่าความจริงเป็นเช่นนี้ คำตอบที่ได้รับจากนายทหารประชาสัมพันธ์นาวิกโยธินทำ
ให้ไอราถึงกับพูดอะไรไม่ออก เขาได้รับคำสั่งให้เก็บความผิดพลาดนี้ไว้ ห้ามแพร่งพรายเป็นอันขาด เพราะบัดนี้เรื่องราวได้แพร่กระจายไปทั่วแล้ว สายเกินไปที่จะแก้ไข
คำสั่งเช่นนี้ทำให้เขาอึดอัดเพราะเท่ากับมีส่วนร่วมในการ “โกหก” คนอเมริกันทั้งชาติ โดยเฉพาะความรู้สึกของพ่อแม่พี่น้อง “วีรบุรุษ” ตัวจริง-ฮาร์ลอน บล็อก

ไอรา เฮยส์ จะต้องแบกรับความเจ็บปวดแห่งความรับผิดชอบชั่วดีเรื่องนี้ไว้ในใจจนกระทั่งปลดประจำการหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงเมื่อสิงหาคม 2488 จึงมีโอกาสได้ปลดเปลื้องความรับผิดชอบนี้
ด้วยวิธีการราวกับนวนิยายแห่งลูกผู้ชาย.
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ใน www.marumura.com