![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนต์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย
เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนาท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธใน www.marumura.com
19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 เมื่อกองกำลังสหรัฐยกพลขึ้นบกที่ อิโว จิมา ช่างภาพ เอพี. นาม…
โจ โรเซนธัล – JOE ROSENTHAL พร้อมเพื่อนนาวิกโยธินสหรัฐสามารถมองเห็นยอดเขาซูริบาชิยืนหยัดทระนงโดดเด่นอยู่หลังแนวหาดสีดำคล้ำ และตระหนักถึงความสำคัญทางการทหารของยอดเขาที่จัดเป็น “ภูมิประเทศสำคัญ” แห่งนี้เป็นอย่างดี

Joe Rosenthal
การต่อสู้เริ่มรุนแรงขึ้นในวันที่ 2 ซึ่งโรเซนธัลรู้อยู่แล้วว่าจะต้องเป็นเช่นนี้ เพราะการรบบนทุกเกาะที่ผ่านมาล้วนเป็นเช่นนี้ แต่เขาจะยังไม่รู้ว่า การรบที่ อิโว จิมา ครั้งนี้ จะเป็นการรบที่ดุเดือดที่สุดในประวัติศาสตร์ของนาวิกโยธินสหรัฐ และเขาจะยังไม่รู้อีกว่า เขากำลังจะได้กดชัตเตอร์บันทึกภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งต่อมาไม่นาน ภาพนี้จะได้รับการยอมรับให้เป็นภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐและนำไปสู่รางวัลพูลิตเซอร์อันทรงเกียรติในที่สุด…
โรเซนธัล ทำหน้าของตนวันต่อวัน ส่งฟิลม์ที่บันทึกแล้วกลับเกาะกวมทางเครื่องบิน บรรณาธิการที่นั่นทำหน้าที่คัดเลือกภาพแล้วส่งผ่านสัญญาณวิทยุไปยังซาน ฟรานซิสโก จากนั้นก็ส่งต่อไปยังเครือข่ายทั่วโลก ภาพถ่ายอันมีชีวิตชีวาของเขาได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องทั้งในหนังสือพิมพ์รายวันและแมกกาซีน

Collier’s Magazine (1955)
5 วันหลังการยกพลขึ้นบก โรเซนธัลทราบว่า นาวิกโยธินหมวดหนึ่งได้รับมอบหมายภารกิจให้ขึ้นไปปักธงชาติสหรัฐบนยอดเขาซูริบายาชิที่เพิ่งยึดได้ เขาจึงรวบรวมเครื่องมือประจำตัวเตรียมออกจากเรือธงซึ่งทอดสมออยู่นอกชายฝั่งเพื่อเข้าร่วมกับกำลังนาวิกโยธินหมวดนี้ ระหว่างที่ลงจากเรือใหญ่สู่เรือเล็กลำเลียงพล เขาก้าวพลาดและตกลงไปในท้องทะเลจนเกือบถูกดูดเข้าใต้ท้องเรือแต่ยังโชคดีที่ได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาอย่างทันท่วงที และที่ยังนับว่าเป็นโชคดีอีกอย่างหนึ่งของเขาคือ อุปกรณ์ทั้งหมดรวมทั้งกล้องถ่ายภาพคู่ชีพไม่ได้รับความเสียหายแม้แต่น้อย เพราะได้ฝากไว้กับเพื่อนนาวิกโยธินคนหนึ่งก่อนจะปีนลงจากเรือใหญ่ ทำให้เขาสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ตามปกติ
นอกจากตัวเขาซึ่งเป็นช่างภาพพลเรือนเพียงคนเดียวแล้ว ในทริปนี้ยังมีช่างภาพนาวิกโยธินร่วมไปเป็นเพื่อนอีก 2 คน เป็นช่างภาพนิ่งคนหนึ่ง ช่างภาพยนตร์อีกคนหนึ่ง
ช่างภาพทั้ง 3 พากันไต่ลาดเขาซูริบายาชิไปได้ครึ่งทางก็ได้พบกับช่างภาพนาวิกโยธินอีกคนหนึ่งซึ่งกำลังเดินสวนทางลงมาและบอกกับพวกเขาให้ทราบว่า หมวดนาวิกโยธินได้ปักธงเรียบร้อยแล้ว
“แต่ข้างบนก็วิวสวยมาก” ดังนั้นพวกเขาจึงพากันปีนเขาต่อไป จนเมื่อเข้าไปใกล้ปล่องภูเขาไฟบนยอดก็สามารถมองเห็นธงชาติสหรัฐโบกสะบัดอยู่ตรงริมปล่องภูเขานั้น
“ผมหยุดเดิน” เขากล่าวภายหลัง “ภาพที่เห็นเหมือนกระแทกเข้าไปในความรู้สึก…นั่นคือธงชาติของเรา ธงชาติของผมอยู่ตรงนั้น ภาพนี้ทำให้ผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มาอยู่ร่วม”

Photo : AP Photo/Joe Rosenthal
เมื่อผ่านพ้นอารมณ์ความรู้สึกอันประทับใจนี้แล้ว โรเซนธัลก็เริ่มทำหน้าที่ของตนต่อไปเพื่อเสาะหาภาพที่จะนำไปเผยแพร่ต่อชาวโลกให้ได้เห็น
ที่ยอดเขาซูริบาชิในเวลาต่อมาไม่นาน โรเซนธัลเห็นทหารนาวิกโยธินกลุ่มหนึ่งกำลังพยายามปักธงชาติผืนใหม่ซึ่งใหญ่กว่าผืนเดิมถึง 2 เท่า บนเสาที่สูงกว่า 20 ฟุต เนื่องจากธงชาติผืนเดิมนอกจากมีขนาดเล็กกว่าแล้วยังถูกยิงถล่มจากทหารญี่ปุ่นจนหลุดจากเสาไปแล้วก่อนหน้านี้ “เกิดอะไรขึ้น” โจถามเพื่อนทหาร นาวิกโยธินผู้หนึ่งตอบให้ทราบว่า ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการให้ปักธงผืนใหม่เพื่อให้ทุกคนบนเกาะนี้ได้เห็นกันทั่วๆ
โรเซนธัลพยายามเลือกมุมที่ดีที่สุดเพื่อบันทึกภาพนี้ ยกกล้องขึ้นแนบสายตาแล้วนิ่งรอจังหวะที่ดีที่สุด จากนั้นก็เฝ้ามองเสาธงที่ถูกดันขึ้นพร้อมๆ กับผืนธงที่โบกสะบัดท่ามกลางกระแสลมอ่อนๆ
เมื่อได้จังหวะเขาก็กดชัตเตอร์…กดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เป็นฟิล์มลำดับที่ 9 จากจำนวนฟิล์มในกลัก 12 ฟิล์ม
ทหาร 3 คนดันเสาธงผืนใหม่ขึ้น พยายามให้โคนเสาอยู่นิ่ง ขณะที่ทหารที่เหลือพยายามหาเชือกมาผูกโคนเสาให้แน่น โจขอให้ทหารทุกคนมารวมกันที่ใต้ผืนธง โบกมือและชูปืนในมือขึ้น แต่ได้รับคำตอบจากทหารบางคนว่า “ไม่…พวกเราไม่ใช่นาวิกโยธินฮอลลีวูด” แต่บางส่วนก็ยินยอม
ภาพถ่ายทั้ง 2 นี้เมื่อถูกนำเผยแพร่ในเวลาต่อมาก็จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของสงครามโลกครั้งที่สองที่ยังประทับใจทุกครั้งยามได้พบเห็น
แม้กระทั่งทุกวันนี้…

Photo : AP Photo/Joe Rosenthal
อีกหลายสิบปีผ่านไป หนังสือชื่อ FLAGS of our FATHERS เปิดบทนำด้วยสำนวนแปลของ ฉัตรนคร องคสิงห์ ว่า…
ในฤดูใบไม้ผลิแห่งปี 1998 เด็กหนุ่ม 6 คนส่งเสียงเรียกหาผมจากอีกฝากโลก จากยอดเขา
ซือริบาฉิแห่งเกาะอิโวจิมาที่ทั้งหกลุยขึ้นไปในช่วงเวลาอันเครียดเขม็งแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2
สำหรับพวกเขา ประวัติศาสตร์โลกบันทึกไว้ว่า…3 ใน 6 พลีชีพให้กับยุทธการบนเกาะ 2 ใน 3 ของที่เหลือใช้ชีวิตอันทุกวันท่วมถมจมดิ่งอยู่ในทุกข์ แล้วตายด้วยพิษสุราบวกอาการของโรคหัวใจสลาย
หนึ่งเดียวเท่านั้นที่สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างคนปกติ เขาทำดังนั้นได้ด้วยการเก็บล็อกทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่อิโวจิมาไว้ในห้องลึกสุดของหัวใจ
พ่อของผมเอง…
จอห์น แบรดลีย์ คือ 1 ใน 6 ทหารอเมริกันที่ร่วมปักธงชาติลงเหนือยอดเขาซือริบาฉิ ท่านคงเชื่อว่าได้นำความลับติดตัวลงหลุมฝังศพไปด้วย ตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคมปี 1994 เพราะตลอดชีวิตที่ได้รู้จักชายที่ผมทั้งรักและบูชา มีเพียงครั้งเดียวที่พ่อเคยยอมพูดเกี่ยวกับเรื่องราวของการ “ปักธง”
“ฮีโร่ที่แท้จริงของยุทธภูมิอิโวจิมา คือคนที่ไม่ได้กลับบ้าน…”

FLAGS of our FATHERS
เรื่องราวเจ็บปวดของนาวิกโยธิน 3 จาก 6 คนที่มีชีวิตรอดหลังปักธงชัยผืนนั้น – เป็นเช่นใดกันแน่ ?
โปรดติดตาม.
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ใน www.marumura.com