![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนต์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย
เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนาท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธใน www.marumura.com
ได้นำเสนอเรื่องราวของฝ่ายญี่ปุ่นในการป้องกันเกาะอิโวจิมาไปแล้ว คราวนี้จะนำภาพรวมของการรบทั้งสองฝ่าย ติดตามด้วยเรื่องราวเบื้องหลังภาพถ่ายประวัติศาสตร์การปักธงชาติสหรัฐอเมริกาเหนือยอดเขาซูริบาชิที่หลายคนอาจผ่านตามาแล้วจากหนังของคลินต์ อีสต์วูด Flags of our Fathers รวมทั้งภาพถ่ายประวัติศาสตร์ที่คุ้นตานี้

16 กุมภาพันธ์ 2488 เวลา 07.00 น.
ปืนใหญ่จากกองเรืออเมริกันที่ลอยลำประชิดอิโวจิมาเริ่มส่งกระสุนเหล็กเข้าถล่มที่หมายบนเกาะ หมู่เรือกวาดทุ่นระเบิดเดินเครื่องเข้าหาเกาะทำการค้นหาทุ่นระเบิดเพื่อเปิดทางให้กองเรือยกพลขึ้นบกสามารถลำเลียงกำลังพลขึ้นบกได้โดยปลอดภัยในลำดับต่อไป มีการยิงต่อต้านมาจากเกาะเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อการโจมตีทางอากาศจากเครื่องบินเริ่มขึ้นก็ถูกยิงต่อต้านอย่างหนักจากปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานของคูริบายาชิ ผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันเกาะอิโวจิมา ทำให้การโจมตีทางอากาศไม่เกิดผลเท่าที่ควร ครั้นพอตกบ่ายฝูงบินทิ้งระเบิดหลักที่ใช้เครื่องบิน บี-29 จากหมู่เกาะมาเรียนนาซึ่งบรรทุกระเบิดที่มีอำนาจทำลายล้างสูงกว่าเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิดระลอกแรกมาถึงกลับปรากฏหมู่เมฆหนาทึบปกคลุมจนทำให้ไม่สามารถตรวจการณ์เห็นเป้าหมาย ภารกิจจึงต้องยกเลิก บี-29 ทุกลำบินกลับฐานบินโดยนำระเบิดทุกลูกกลับไปด้วย
หรือว่า “ลมสวรรค์-คามิคาเซ่”ถูกบันดาลให้เกิดขึ้นอีกครั้งเพื่อป้องกันแผ่นดินอันศักดิ์สิทธ์แห่งโอรสสวรรค์เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยปีที่แล้วครั้งกองทัพเรือมองโกลยกพลข้ามท้องทะเลมาแล้วถูกลมสวรรค์พัดกระหน่ำจนแตกพ่ายไป

17 กุมภาพันธ์ อากาศแจ่มใสขึ้น ทัศนวิสัยเปิดกว้าง เรือกวาดทุ่นระเบิดปฏิบัติการใกล้ชายฝั่งเข้ามาอีกในระยะ 750 หลา จากนั้นเรือรบลำอื่นๆ ซึ่งอยู่ห่างฝั่งเพียงประมาณ 3,000 หลาก็เริ่มปลดปล่อยกระสุนเหล็กเข้าสู่ที่หมายอีกครั้งหนึ่ง
ระยะเพียง 3,000 หลานี้อยู่ในระยะยิงหวังผลของอาวุธปืนใหญ่หลายชนิด ดังนั้นปืนใหญ่บนเกาะก็เริ่มระดมยิงตอบโต้กองเรือของสหรัฐบ้าง ส่วนเรือกวาดทุ่นระเบิดที่อยู่ใกล้เข้ามาอีกก็ถูกระดมยิงด้วยปืนกลขนาด 40 มิลลิเมตรรวมทั้งอาวุธเบาอื่นๆ ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายให้กับฝ่ายสหรัฐได้จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะเรือลาดตระเวนถูกยิง 2 ลำ มีผู้เสียชีวิต 17 นาย บาดเจ็บ 120 นาย
เวลา 10.30 น. การระดมยิงจากกองเรือเบาบางลงเพื่อเปิดโอกาสให้นักทำลายใต้น้ำหรือที่เรียกกันติดปากว่ามนุษย์กบจำนวน 100 นายเข้าสำรวจและทำลายเครื่องกีดขวางใต้ท้องน้ำเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เรือลำเลียงพลขึ้นฝั่ง ปืนบนเกาะยังคงระดมยิงต่อต้านอย่างไม่หวั่นเกรงจนสร้างความเสียหายแก่เรือลำเลียงพลได้ถึง12 ลำ มีทหารเสียชีวิต 47 นาย บาดเจ็บอีก 153 นาย
ถึงตอนนี้ฝ่ายอเมริกันก็เริ่มหนักใจเพราะตามแผนนั้นจะต้องจัดการกับการต่อต้านของญี่ปุ่นให้เสร็จสิ้นภายใน 18 กุมภาพันธ์คือวันพรุ่งนี้ แต่ 2 วันที่ผ่านมาการต่อต้านจากญี่ปุ่นก็มิได้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด

18 กุมภาพันธ์ สภาพทัศนวิสัยย่ำแย่ลงไปอีก กองเรืออเมริกันขยับเข้าไปใกล้อิโวจิมาจนเหลือระยะทางเพียง 2,500 หลาแล้วเริ่มระดมยิงพร้อมๆกับการขึ้นปฏิบัติการของเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดเล็กโดยได้รับมอบภารกิจให้ทำการโจมตีเป้าหมายบนเกาะตามแต่โอกาสจะอำนวยให้ และเช่นเดียวกับเมื่อสองวันก่อนหน้านี้ เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนักจากหมู่เกาะมาเรียนนาก็ต้องบินกลับฐานบินโดยไม่สามารถทิ้งระเบิดสู่ที่หมายได้เลยแม้แต่ลูกเดียว
นายทหารการข่าวของสหรัฐสรุปว่า ณ เวลา 18.00 น. เป้าหมายที่มีความสำคัญบนอิโวจิมาจำนวน 200 แห่งนั้นถูกทำลายไปแล้วประมาณ 100 แห่ง
19 กุมภาพันธ์ พอแสงอรุณจับขอบฟ้า ปืนใหญ่จากเรือประจัญบาน 8 ลำ เรือลาดตระเวน 5 ลำ และเรือติดจรวดหลายลำกล้องอีก 9 ลำก็เริ่มรวมอำนาจการยิงไปยังที่หมายที่เหลืออยู่บนอิโวจิมาอีกครั้งหนึ่ง เป็นการยิงโจมตีอย่างหนักต่อทุกที่หมายระลอกสุดท้ายก่อนเปิดฉากการยกพลขึ้นบกของเหล่านาวิกโยธิน
แล้วยานสะเทินน้ำสะเทินบกเกือบ 500 ลำบรรทุกนาวิกโยธินเต็มอัตราก็ปรากฏตัวเหนือท้องทะเลที่อาบไล้ด้วยแสงสีทองยามเช้า

สุรพงษ์ บุนนาค บรรยายไว้ใน “ทะเลเดือด” ของท่านว่า
“บรรดาทหารญี่ปุ่นที่จ้องดูกองเรืออเมริกันอยู่จากปากถ้ำต่างๆ ตลอดจนจากช่องมองของรังปืนและที่มั่นทั้งหลาย ต่างแทบจะไม่เชื่อสายตาของตนด้วยเรือจำนวนมากมายของข้าศึกที่แลเห็นอยู่ แล้วในขณะที่พื้นแผ่นดินสั่นสะเทือนอยู่เป็นระยะๆ จากการถูกยิง พลทหารฮิโยมิ ฮิรากวะ ผู้ประจำอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่งบนเขาสุริบาชิก็คิดว่าภาพที่ตนแลเห็นอยู่นั้นน่าดูจริงๆ
ยานสะเทินน้ำสะเทินบกที่บรรทุกนาวิกโยธินเริ่มแล่นเป็นวงเพื่อคอยสัญญาณให้แล่นเข้าสู่ชายฝั่ง บรรดาเรือลำเลียงอุปกรณ์ต่างๆ ก็คอยพร้อมอยู่แล้ว กำหนดยกพลขึ้นบกคือ 9 น. บรรดาเรือซึ่งมีหน้าที่ระดมยิงสนับสนุนนั้นขณะนี้อยู่ห่างออกมาจากฝั่งเพียง 1,000 หลาเท่านั้น และยิงอยู่อย่างหนัก ทำให้มีควันสีขาว เหลือง และเทากลบกลุ้มขึ้นปกคลุมทั่วทั้งเกาะ”

การระดมยิงจากปืนเรือสิ้นสุดลงเมื่อเวลา 8.05 น.ติดตามด้วยการโจมตีทางอากาศจากเครื่องบินด้วยอาวุธนานาชนิดรวมทั้งระเบิดเนปาล์มเพื่อเผาผลาญที่มั่นของทหารญี่ปุ่น ปิดท้ายด้วยการระดมยิงด้วยจรวดหลายลำกล้องและอาวุธหนักอื่นๆ จากเรือรบอีกรอบหนึ่งต่อที่หมายบนชายหาด จากนั้นฉากการยิงและการโจมตีทางอากาศก็เลื่อนลึกเข้าไปในตัวเกาะเพื่อเปิดโอกาสให้กับการยกพลขึ้นบก
เวลา 9.02 น.ยานสะเทินน้ำสะเทินบกนำนาวิกโยธินชุดแรกขึ้นเหยียบฝั่งอิโวจิมา ทุกคนพร้อมเต็มที่สำหรับความเลวร้ายที่จะต้องเผชิญ

แต่ผิดคาด การยิงจากฝ่ายญี่ปุ่นเป็นไปอย่างเบาบาง หลายคนเริ่มโล่งใจ แต่หลายคนกลับยิ่งระมัดระวังตัวมากยิ่งขึ้น
ทหารญี่ปุ่นทุกคนซ่อนตัวอยู่ในที่มั่นดัดแปลง ศูนย์เล็งของอาวุธในมือจับไปยังเป้าหมายที่เต็มไปหมดบนชายหาดเบื้องหน้า รอคำสั่งยิงจากกองบัญชาการที่คูริยาบาชิ ผู้มีชีวิต “ดั่งตะเกียงในสายลม” กำลังรอจังหวะอย่างใจจรดใจจ่อเช่นเดียวกัน …
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ใน www.marumura.com