![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย
เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนารท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธ ใน www.marumura.com

บาดแผลบนศีรษะผู้บังคับกองพัน
เรื่องราวรูกระสุนบนหมวกเหล็กและบาดแผลของผู้บังคับกองพัน ใครได้ยินก็ต้องสนใจ ผมเองก็เช่นเดียวกัน กระทั่งหลังจากนั้นหลายปีจึงได้มีโอกาสเป็นเจ้าของหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งชื่อ “เมื่อญี่ปุ่นบุกเมืองนคร” เขียนโดย พ.อ.สะอาด ขมะสุนทร ผู้นำกำลังยุวชนทหารมารายงานตัวกับผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ ในเช้าวันเกิดเหตุ
ในหนังสือเล่มนี้ท่านได้เล่าให้ฟังถึงบาดแผลบนศีรษะและรูกระสุนที่หมวกเหล็กใบนั้นของผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓๙ พันตรีหลวงประหารริปูราบ (ชื่น โหระกุล ยศสุดท้าย พันโท ถึงแก่กรรมแล้ว) ดังนี้…
…สังเกตเห็น ผบ.พัน.สวมหมวกเหล็ก ทับผ้าพันศีรษะสีขาว มีโลหิตเกรอะกรังที่ผ้าพันศีรษะและเสื้อเครื่องแบบเล็กน้อย ผบ.พัน. บอกว่า “ถูกยิงที่ศีรษะ หัวกระสุนเจาะหมวกเหล็กจากด้านหน้าทะลุออกด้านหลัง” แล้วถอดหมวกให้ดู แต่ไม่เห็นบาดแผล นอกจากผ้าพันศีรษะที่เปื้อนเลือดเท่านั้น และกล่าวต่อไปว่า “หัวกระสุนมันถากหนังศีรษะไป”…
…ต่อมาเมื่อ ผบ.พัน.ร.๓๙ เข้าที่พักชั่วคราวในเขตหน้าเมืองและ ผบ.พัน.พักอยู่ที่หอประชุมโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดแล้ว ผบ.พันโกนผมทั้งศีรษะ จึงเห็นแผลจากกระสุนนัดนั้นอย่างถนัด
กระสุนนัดนั้นถากผิวหนังตรงกลางศีรษะพอดี หนังศีรษะถลอกเป็นทางกว้างประมาณ ๕ ม.ม. ยาวประมาณ ๖ ซ.ม. เคราะห์ดีอย่างยิ่งที่ ผบ.พัน เป็นคนร่างเล็กค่อนข้างเตี้ย ถ้าท่านสูงกว่านี้เพียง ๑ ซม. หรือกระสุนนัดนั้นราบกว่านี้เพียงเล็กน้อย ผบ.พัน. ก็คงจะถูกหัวกระสุนนัดนั้นเจาะกะโหลกศีรษะถึงแก่กรรม หรือบาดเจ็บสาหัสอย่างแน่นอน เมื่อ ผบ.พัน. นำหมวกเหล็กใบนั้นออกมาให้ดูตามคำขอ รู้สึกประหลาดใจว่าเพราะเหตุใดรอยแผลบนศีรษะ ผบ.พัน. จึงอยู่กลางศีรษะพอดี ในเมื่อรอยกระสุนถูกที่หมวกเหล็กมิได้เจาะตรงหน้าหมวกทะลุออกด้านหลัง แต่รอยกระสุนนั้นนั้นเจาะหมวกเหล็กทางด้านหน้าเฉียงขวาใกล้กับตราหน้าหมวก “สละชีพเพื่อชาติ” ทะลุออกด้านหลังเฉียงซ้าย จึงเข้าใจว่าขณะที่ ผบ.พัน. ถูกยิงนั้น ท่านคงจะสวมหมวกเหล็กไม่ตรงกับแสกหน้า และยังคิดว่า ถ้า ผบ.พัน.สวมหมวกเหล็กตรงแสกหน้า ก็คงไม่ได้รับอันตราย หัวกระสุนอาจแฉลบไปในอากาศในเมื่อที่ด้านหน้าของหมวกเหล็ก มีความหนากว่าด้านอื่นอีก 1 เท่า เพราะมีตราหน้าหมวกเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันหมวกเหล็กใบประวัติศาสตร์นี้ทายาทของท่านได้ให้กองทัพบกยืมมาเป็นการชั่วคราว โดยสามารถชมได้ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ใน www.marumura.com