พอประกาศคะแนนภาษาญี่ปุ่นครั้งสุดท้ายเสร็จ รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้นักเรียนทุนเลือกมหาวิทยาลัยที่จะเข้า อารมณ์เอนทรานซ์ (สอบแอ๊ดมิน) เขาให้เราเลือก 6 อันดับ
พอประกาศคะแนนภาษาญี่ปุ่นครั้งสุดท้ายเสร็จ รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้นักเรียนทุนเลือกมหาวิทยาลัยที่จะเข้า อารมณ์เอนทรานซ์ (สอบแอ๊ดมิน) เขาให้เราเลือก 6 อันดับ
เกตุวดีเลือกม.เกียวโต (ศักดิ์ศรีประมาณม.ธรรมศาสตร์) เป็นอันดับ 1 เพราะเมืองเกียวโตเป็นเมืองเก่าแก่ มีวัดสวยๆ เยอะ จะได้เที่ยวได้ฉ่ำอุรา เลือกเพราะหวังเที่ยวแท้ๆ ส่วนอันดับ 2 เลือกม.โกเบเพราะเมืองโกเบเป็นเมืองท่า วิวสวย ของกินอร่อย เลือกเพราะหวังกิน ชีวิตก็มีแค่นี้แหละค่ะ จะเอาอะไรมากมายคะ บุญทำคะแนนส่งให้ได้มหาลัยอันดับ 2 คือ มหาวิทยาลัยโกเบค่ะ โกเบเป็นเมืองท่า อยู่ถัดจากเมืองโอซาก้า ด้านหน้าเป็นทะเล ด้านหลังเป็นภูเขา วิวสวย อาหารอร่อยค่ะ
มหาลัยญี่ปุ่นจะเริ่มเปิดเทอมช่วงต้นเดือนเมษายนค่ะ เกตุวดีจำได้ว่า วันปฐมนิเทศของมหาลัยคือวันที่ 6 เมษายน มหาลัยไม่มีหอประชุมใหญ่พอให้เด็กปี 1 ทุกคนเข้าไปได้ เราเลยต้องไปที่หอประชุมของเมืองโกเบซึ่งตั้งอยู่กลางทะเลค่ะตอนแรก อธิการบดีขึ้นมาพูดทักทาย จำอะไรไม่ได้เลยนอกจากเรื่องหมูป่า อาจารย์บอกว่า “เด็กมหาลัยนี้ ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมีโอกาสได้เจอหมูป่า เพราะมหาลัยอยู่บนเขาสูง ด้านหลังเป็นป่า หมูป่ามันชอบลงมาในแคมปัสมาคุ้ยหาอะไรกิน หวังว่าพวกเธอจะได้เจอหมูป่านะ ฮ่าๆ” …เอ๊ะ ตกลงตูจากประเทศโลกที่ 3 มาเรียนที่ประเทศพัฒนาแล้วรึเปล่านี่
พออธิการบดีกล่าวจบ ก็มีอาจารย์อีกสองสามท่านขึ้นมากล่าว ท้ายสุด รุ่นพี่ชมรมเชียร์ขึ้นมากล่าวคำเชียร์และร้องเพลงมหาลัย เชียร์ลีดเดอร์มีประมาณ 20 คน หญิงครึ่งหนึ่ง ชายอีกครึ่งหนึ่ง ครึ่งหญิงครึ่งชายนี่ไม่เห็นนะคะ ☺ สังเกตว่า เชียร์ลีดเดอร์ญี่ปุ่นหน้าตามาจากความสมัครใจล้วนๆ ไม่ได้คัดหน้าตา ใครอยากเป็นก็เป็น เชียร์ลีดเดอร์ผู้หญิงก็ใส่ชุดเชียร์เหมือนที่เห็นตามหนังอเมริกันทั่วไป แต่ลีดเดอร์ชาย ใส่ชุดคล้ายๆชุดนักเรียนแต่แขนเสื้อและชายเสื้อยาวกว่า

ประธานเชียร์ก็ขึ้นมา นึกว่าจะเต้นจะพูดอะไร เปล่าเลย… เขายกมือเหมือนจราจรโบกรถ ตั้งค้างไว้แล้วก็ตะโกนว่า “โออออออออออ” ตะโกนไป 15 วินาที จากนั้นก็ “โฮฮฮฮฮฮฮฮฮฮฮฮฮฮฮ” ไปอีก 15 วินาที คงโชว์พลังเสียงและรวบรวมสมาธิก่อน ตอนท้ายๆ ถึงค่อยพูดเป็นคำซึ่งฟังไม่ออกเลย พูดเป็นคำ คำ ช้าๆ แต่เสียงก้องอยู่ในคอ ระหว่างนั้นแกก็ทำท่าโบกรถประกอบไปด้วย

ตอนท้ายสุด เชียร์ลีดเดอร์ทุกคนจะนำร้องเพลงมหาลัย นักศึกษาทุกคนก็ลุกขึ้นยืน เพลงมหาลัยเป็นเพลงช้าๆ อิฮั้นจำได้อยู่ท่อนเดียวคือตรงท่อนสร้อย “โก…เบ่ โก้..เบ่” ลีดเดอร์ก็ยืนไพล่หลังตัวตรงนิ่งตะโกนร้องเพลงมีลีดผู้ชายคนหนึ่งถือธงยักษ์สัญลักษณ์มหาลัยโบกไปโบกมา ลีดคนอื่นไม่ได้เต้นประกอบเลย สงสัยเหมือนกันแล้วเค้าจะเอาเชียร์ลีดเดอร์มาทำอะไร ทำไมไม่เอาชมรมประสานเสียงมา
พิธีปฐมนิเทศก็เป็นอันจบแค่นี้ จบแบบมึนๆ งงๆ
หลังจากนั้นสองสามวัน ก็จะมีพี่ๆมาตั้งบู๊ธตรงสนามกีฬา เชิญชวนน้องปี 1 เข้าชมรม มหาลัยญี่ปุ่นจะเน้นกิจกรรมชมรมมาก บางคนก็ทำแต่กิจกรรมชมรมจนไม่เข้าเรียนเลยก็มี ชมรมที่ญี่ปุ่นจะมีสองแบบค่ะ คือบุ(部)กับซาขุหรุ (サークル)“บุ” จะซีเรียสกว่า ซ้อมหนักกว่า เอาจริงเอาจังกว่า ส่วน “ซาขุหรุ” มาจากคำว่า “Circle” คือ คนที่มีความสนใจเหมือนๆ กัน มาตั้งวงกัน ทำกิจกรรมกัน จะสบายๆกว่า “บุ” มากๆค่ะ
ชมรมในญี่ปุ่นก็จะมีหลายประเภท ประเภทกีฬา เช่น ชมรมฟุตบอล รักบี้ ตีกอล์ฟ เรือยอร์ท ปีนเขา เทนนิส ประเภทดนตรีก็มีดนตรีสากล ดนตรีญี่ปุ่น ดนตรีร็อค เวลาเข้า เราต้องสังเกตดีๆว่าเป็นแบบ “บุ” หรือ “ซาขุหรุ” เช่น ชมรมเทนนิส ก็จะมีสองชมรม คือ เทนนิสบุ กับ เทนนิสซาขุหรุ พวก “บุ” จะซ้อมทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ วันเสาร์ซ้อมเต็มวัน ในขณะที่พวก “ซาขุหรุ” จะตีเทนนิสทุกวันเสาร์ ซัก 2-3 ชั่วโมง จากนั้นก็ไปสังสรรค์ ปาร์ตี้กัน รู้กันนัยๆว่า ใครอยากหาคู่ก็เข้าชมรมพวกนี้ มีโอกาสพบปะเจอคนมากหน้าหลายตาดี
ชมรมอีกประเภทที่เกตุวดีคิดว่าต่างจากเมืองไทย คือ “เคงคิวไค (研究会)” พวกนี้จัดเป็น “ซาขุหรุ” แต่เน้นด้านการค้นหาข้อมูล วิเคราะห์วิจัย พูดง่ายๆคือเป็นชมรมด้านวิชาการนั่นเอง เคงคิวไคที่เกตุวดีเห็นก็มีตั้งแต่ด้านเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ จนถึงชมรมวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ โบราณคดี เคงคิวไคหนึ่งที่เป็นที่นิยมคือ “มังกะ-เคงคิวไค” หรือชมรมการ์ตูนนั่นเอง สมาชิกจะนั่งเขียนการ์ตูน ทำเล่ม พิมพ์ขาย มีการจัดกิจกรรมอบรมสมาชิกเกี่ยวกับวิธีวาดการ์ตูน ทุกอย่างเป็นจริงเป็นจังมาก โอตากุอยู่เยอะ
ตอนแรกๆ ที่น้องๆ ปี 1 ไม่รู้จะเข้าชมรมไหน แต่ละชมรมก็จะให้น้องๆเข้ามาเยี่ยมชมที่ห้องชมรมและพบปะพูดคุยกับรุ่นพี่ได้ พี่ๆก็จะพาไปเลี้ยงข้าว เลี้ยงดูปูเสื่อน้องๆเป็นอย่างดี น้องคนไหนหัวใส อยากกินข้าวฟรี ก็จะไปทัศนาจรตามชมรมต่างๆ ทำเนียนไปฟังคำอธิบาย สุดท้ายก็ได้กินข้าวเย็นฟรีไปเกือบเดือน
ต้องบอกก่อนว่า ที่ญี่ปุ่น กิจกรรมชมรมถือว่าสำคัญมาก เวลาสมัครงานบริษัท เขาจะไม่สนว่าคุณจบได้เกรดมาเท่าไร แต่เขาจะถามว่า ตอนอยู่มหาลัยคุณทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง ถ้าใครอยู่ชมรม สร้างผลงานไว้เยอะ ก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษค่ะ เพราะฉะนั้น เด็กมหาลัยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 จะเข้าชมรมและทุ่มเทกายใจให้กิจกรรมชมรม หลายคนโดดเรียน หลายคนไม่เข้าเรียนเลย มัวแต่ซ้อมกีฬา ซ้อมดนตรี เกตุวดีเองก็เข้าชมรมเหมือนกัน อยากได้เพื่อนญี่ปุ่นด้วย อยากเรียนรู้อะไรติดตัวด้วย ชมรมที่ดิฉันเลือกเข้าคือชมรมกีต้าร์คลาสสิคค่ะ
ชมรมกีต้าร์คลาสสิคจัดเป็นประเภท “บุ” ซ้อมอาทิตย์ละ 2 วัน วันพุธตั้งแต่ 5 โมงถึง 2 ทุ่ม วันเสาร์ตั้งแต่ 9 เช้าถึงบ่าย 4 โมง ชมรมนี้เป็นชมรมเล็กๆ มีสมาชิกประมาณ 30กว่าคน พวกเราก็จะแบกกีต้าร์ไปที่ห้องซ้อม รุ่นพี่ก็สอนรุ่นน้องอ่านโน้ต จากนั้นก็ฝึกเพลงด้วยกัน บางคนเล่นคู่ บางคนจับกลุ่มเล่นเป็นวง
เกตุวดีสังเกตเห็นความเอาจริงเอาจังของคนญี่ปุ่นได้ตั้งแต่ตอนเข้าชมรมแล้วค่ะ การซ้อมเพลงและเล่นกีต้าร์ไม่ได้ทำเพื่อความบันเทิงใจของพวกเรา เราซ้อมเพื่อแสดงคอนเสิร์ตที่พวกเราจัดขึ้นเอง ปีหนึ่งมี 2 ครั้ง ช่วงกลางปีกับท้ายปีค่ะเราควักตังค์จ่ายกันเอง ทำเองแบบจริงจังมาก คือ ไปเช่า hall พิมพ์ใบปลิวและแจกเพื่อเชิญชวนคนมาฟังคอนเสิร์ตของเรา ผู้ชมฟังฟรีเพราะขืนเก็บเงินคงไม่มีใครมาฟังมือสมัครเล่นอย่างพวกเราแน่ เวลาเข้าชมรม พวกเราก็ซ้อมแต่เพลงที่จะใช้เล่นในคอนเสิร์ต คนหนึ่งจะต้องเล่นประมาณ 2-3 เพลง ทุกอาทิตย์ๆ ก็นั่งเล่นแต่ไอ้เพลงเดิมๆ กับ member เดิมๆ นี่แหละค่ะ จังหวะต้องเป๊ะ อารมณ์ต้องให้ได้


ช่วงก่อนแสดงสัก 2-3 อาทิตย์เราจะไปซ้อมเก็บตัวกัน ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “กัชชุขุ(合宿)” ค่ะ เราเช่ารถทัวร์ไปจังหวัดใกล้เคียง เช่าบังกะโล แล้วก็นั่งดีดกีต้าร์ทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้ไปเที่ยวไหนเลย นอกเหนือจากเวลากิน 3 มื้อและเวลานอน เราทุ่มเทให้กับการซ้อมเพลงค่ะ แม้ว่าทิวทัศน์ข้างนอก จะมีใบไม้เปลี่ยนสีสันสวยงาม ฟ้าใสๆ แต่เราก็ไม่ได้ออกไปชื่นชม ต้องขลุกอยู่ในบ้านพักซ้อมกีต้าร์กัน อิฮั้นก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมคนญี่ปุ่นต้องอุตส่าห์ไปที่ไกลๆ ไปแล้วมันก็ไม่ได้เที่ยว นั่งซ้อมกีต้าร์อยู่ดี ถ้าจะซ้อมก็ไปเช่าบ้านพักในโกเบสิ ประหยัดค่าเดินทาง ประหยัดเวลาด้วย ไหนๆได้ออกมาข้างนอก ไอ้เราก็อยากออกไปเที่ยวอยากไปสูดอากาศ แต่สมาชิกในวงตั้งหน้าตั้งตาซ้อม ไม่มีใครออกมาเที่ยวด้วยกันเลย สุดท้าย เราก็ต้องไปนั่งเล่นกีต้าร์งุดๆ กับเขาด้วยอยู่ดี

เกตุวดีว่า คนญี่ปุ่นเขาเริ่มฝึกความอดทนอดกลั้นกันตั้งแต่ตอนนี้แหละค่ะ เราต้องทนอยู่กับเพลงและกีต้าร์ตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงคืน ถึกกันจริงๆ ถ้ามีใครบ่นขึ้นมาว่า “เหนื่อยเนอะ” “เพลียเนอะ” รอบข้างก็จะพูดว่า “อืม..เหนื่อยเนอะ แต่เราสู้ต่อไปกันเถอะ”คำว่า “กัมบาโร่ (頑張ろう)” หรือ “สู้ๆ” จะเป็นคำที่ดิฉันได้ยินบ่อยมาก สู้กัน…สู้กันเข้าไป๊ คนญี่ปุ่นสู้ขาดใจตายจริงๆ นึกถึงสมัยตัวเองอยู่ม.ปลาย เวลามีงานกลุ่มที่ต้องทำถึงช่วงเย็นๆ ถ้ามีใครสักคนพูดขึ้นมาว่า “เหนื่อยแล้วว่ะ” ส่วนใหญ่ประโยคถัดมา มันจะไม่ใช่ “สู้ต่อไป” หรือ “พยามให้ถึงที่สุดกันเถอะ” แต่จะเป็นคำพูดประมาณว่า “เออ..เราก็ขี้เกียจแล้วเหมือนกัน พอเหอะ ไว้ค่อยทำต่อพรุ่งนี้” หรือไม่ก็ “หิวแล้วว่ะ ไปหาอะไรกินกัน” ยังไม่ทุ่มสุดตัวเหมือนญี่ปุ่นขนาดนี้
ช่วงใกล้คอนเสิร์ตเราก็จะไปหาซื้อเครื่องแต่งตัว อุปกรณ์ที่จะ entertain คนดู เช็คแสง เช็คเสียงใน hall พอถึงวันจริง เราก็ก้าวขึ้นเวทีเล่นเพลงที่ตั้งอกตั้งใจซ้อมกันมาตลอดปี เพลงสุดท้ายจะเป็นเพลงที่สมาชิกทุกคนในวงเล่นพร้อมกันหมด คิดดูสิคะ กีต้าร์ 30 กว่าตัวเล่นพร้อมกัน กว่าจะซ้อมให้ลงจังหวะ ไม่ให้เพี้ยนได้ ก็ใช้เวลาทั้งปีนี่แหละค่ะ มีรุ่นพี่หนึ่งคนเป็นคอนดัคเตอร์ พอเพลงจบ ม่านสีแดงก็เลื่อนลงมาปิดเวที เป็นอันว่าคอนเสิร์ตจบเรียบร้อย
พอคอนเสิร์ตจบปุ๊บ เราก็กอดคอกันร้องไห้ เหนื่อยซ้อม เหนื่อยเตรียมงานกันมาทั้งปี เสร็จสิ้นเสียทีภารกิจเรา เหนื่อยมาก แต่ฟินมากค่ะ ☺
ขอบคุณรูปภาพ : http://kyonan.blog.so-net.ne.jp