![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย
เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนารท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธ ใน www.marumura.com

พ.ศ. ๒๕๑๒ ผมกับเพื่อนร่วมรุ่นอีก ๒ คน จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย จปร. แล้วถูกส่งไปรับราชการที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๕ ค่ายวชิราวุธ นครศรีธรรมราช นายทหารกำลังพลพาพวกเราก้าวขึ้นไปบนอาคาร บก.พัน ซึ่งเป็นเพียงอาคารไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูงเก่าคร่ำคร่าเพื่อรายงานตัวกับผู้บังคับกองพัน จังหวะหนึ่งที่ผมเหลือบมองไปยังพื้นไม้ บก.พัน ก็สังเกตเห็นร่องรอยน่าสนใจบางอย่างจึงก้มหน้าจ้องดู นายทหารกำลังพลเห็นอาการของผมเช่นนั้น ก็ชิงตอบก่อนว่า…
“รอยกระสุนปืนน่ะผู้หมวด… ตั้งแต่สมัยญี่ปุ่นขึ้นโน่นแน่ะ…”
ญี่ปุ่นบุกไทยพร้อมๆ กับการเข้าถล่มเพิร์ล ฮาเบอร์ เมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔
“ญี่ปุ่นขึ้นที่ตลาดท่าแพข้างกองพันนี่เองครับ…” ลุงเนียมชี้ไปทางทิศเหนือ ตลาดท่าแพอยู่ห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตร “ขึ้นมาก็เจอะกับพวกเราเลยครับ ยิงกันอยู่พักใหญ่ ผมก็อยู่ในเหตุการณ์เช้านั้นด้วย” นายทหารกำลังพลเล่าเสียงเรียบๆ
ผมหันกลับไปมองอีกด้านหนึ่งของกองพัน ที่เห็นลิบๆนั่นก็คืออนุสาวรีย์ “จ่าดำ” ที่ไม่เฉพาะชาวค่ายวชิราวุธเท่านั้นที่ให้ความเคารพกราบไหว้ แต่รวมทั้งพี่น้องชาวนครศรีธรรมราชและชาวใต้เกือบทุกคนอีกด้วย ไม่มีใครไม่รู้จักอนุสาวรีย์จ่าดำ ที่บางคนก็เรียกด้วยความเคารพมากขึ้นไปอีกว่า “พ่อดำ”
กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๕…ณ ที่นี้มีวีรกรรม.
ญี่ปุ่นบุกเมืองนคร
ที่ผ่านมามีหลายท่านได้บันทึกเรื่องราวเช้ามืดวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง แต่เนื่องจากผมได้พบเอกสารที่น่าสนใจเล่มหนึ่งคือ “ประวัติศาสตร์การสงครามของไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา” ของกองบัญชาการทหารสูงสุด โดยกรมยุทธศึกษาทหาร ซึ่งจัดทำอย่างมีมาตรฐานทางวิชาการ โดยมี พลโท ชาญ อังสุโชติ เป็นประธานคณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือเล่มนี้ และใช้เวลาถึง ๑๐ ปี ระหว่าง ๒๕๓๐ ถึง ๒๕๔๐ ซึ่งผมเชื่อว่าข้อมูลและหลายเรื่องราวที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้อาจไม่เคยเผยแพร่ต่อสาธารณชนมาก่อน
จึงขอนำข้อมูลน่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้มาสรุปเสนอผู้อ่าน
การเตรียมการของญี่ปุ่น
ก่อนที่จะส่งกำลังทหารเข้าสู่ประเทศไทยนั้น ญี่ปุ่นได้ส่งชาวญี่ปุ่นวัยฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย โดยมากับเรือญี่ปุ่นชื่อ อาซาฮียามา (Asahiyama Maru) และขึ้นบกที่ท่าเรือกรุงเทพฯ เมื่อประมาณเดือนกันยายน ๒๔๘๓ กลุ่มชาวญี่ปุ่นดังกล่าวได้ปลอมแปลงตัว โดยแสดงในเอกสารเดินทาง ระบุอาชีพว่า เป็นพนักงานของบริษัทมิตซูบิชิสาขากรุงเทพฯบ้าง เป็นนายแพทย์และนักธุรกิจสาขาต่างๆ บ้าง หัวหน้ากลุ่มชาวญี่ปุ่นนี้คือ พันโท ยาฮารา (Hiromichi – Yahara) จากคำให้การของพันโทยาฮาราในภายหลังระบุว่า กลุ่มชาวญี่ปุ่นดังกล่าวล้วนแต่เป็นทหารญี่ปุ่นทั้งสิ้น โดยได้รับมอบภารกิจให้เข้ามาสืบราชการลับในประเทศไทย เพื่อเก็บข้อมูลทางด้านยุทธศาสตร์ทหาร สำหรับเตรียมการส่งกำลังกองทัพญี่ปุ่นเข้าปฏิบัติการในดินแดนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป เมื่อถึงกรุงเทพฯ แล้ว กลุ่มชาวญี่ปุ่นทั้งหมดได้แยกย้ายออกไปปฏิบัติการตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย สำหรับพันโทยาฮาราได้เดินทางไปสำรวจภูมิประเทศตามชายฝั่งบริเวณจังหวัดสงขลา เพื่อเตรียมการยกพลขึ้นบกของกองทัพที่ ๒๕ แล้วจึงเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นในปลายปี ๒๔๘๓ และได้รับหน้าที่ให้เข้าร่วมจัดทำแผนส่งกำลังกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าสู่เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย…
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ใน www.marumura.com