![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนารท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธใน www.marumura.com
เช้ามืดวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นยกกำลังเข้าบุกประเทศไทยถึง ๘ ทิศทางด้วยกัน กำลังทางบกเข้าทางอรัญประเทศ ส่วนทางทะเลนั้นก็ไล่ไปตั้งแต่บางปู (สมุทรปราการ) อ่าวมะนาว (ประจวบคีรีขันธ์) หาดคอสน (ชุมพร) อ่าวบ้านดอน (สุราษฎร์ธานี) คลองท่าแพ (นครศรีธรรมราช) ฝั่งทะเลบริเวณแหลมสมิหลา (สงขลา) และปากน้ำปัตตานี

เว้นที่อรัญประเทศ และบางปูเท่านั้น นอกจากนั้นทุกจุดได้รับการต้านทานจากทหารและประชาชนชาวไทยอย่างถวายชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเมื่อตอนสายของวันเดียวกันนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งมี จอมพล ป.พิบูลสงครามก็ลงมติให้ทำความตกลงกับฝ่ายญี่ปุ่น โดยไทยอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนที่ผ่านดินแดนประเทศไทยได้ และจะอำนวยความสะดวกทุกอย่างเท่าที่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ทั้งนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นให้ประกันว่าจะเคารพต่อเอกราช อธิปไตย และเกียรติยศของประเทศไทย
พอถึงเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. ก็ได้มีการลงนามระหว่างเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในข้อตกลงยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยได้
การสู้รบระหว่างทหารญี่ปุ่นกับทหารและประชาชนไทยก็จึงยุติลง…
เว้นที่อ่าวมะนาว ประจวบคีรีขันธ์ !!!
น่านฟ้าไทย มิให้ใครย่ำยี

ขณะเกิดเหตุการณ์ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ นั้น อ่าวมะนาวเป็นที่ตั้งของกองบินน้อยที่ ๕ มี นาวาอากาศตรี หม่อมหลวง ประวาศ ชุมสาย เป็นผู้บังคับกองบินน้อยแห่งนี้ กำลังรบหลักเป็นเครื่องบินแบบ ๑๗ (ขับไล่) และเครื่องบินแบบ ๒๓ (ตรวจการณ์) รวม ๓ ฝูงบิน กับกองทหารราบทำหน้าที่ป้องกันและรักษาสนามบินซึ่งมีกำลังพลเป็นทหารกองประจำการรวมทั้งสิ้นประมาณ ๑๖๐ คน มีเรืออากาศตรี สมศรี(ศรีศักดิ์) สุจริตธรรมนายทหารนักบินทำหน้าที่ผู้บังคับกอง

(ในภาพ..เป็น “นายเรืออากาศเอก”)
อาณาเขตของกองบินประกอบด้วย พื้นที่บริเวณเขาล้อมหมวก – เกาะร่ม – เกาะไหหลำ – เกาะหลัก – หัวถนนสายคลองวาฬ – ถนนสายคลองวาฬ (ตัวถนนอยู่นอกเขต) – เขาตาเหลือก – เกาะนางแด่นและเขาล้อมหมวก
ความสำคัญของกองบินแห่งนี้นอกจากใช้เป็นที่วางกำลังป้องกันประเทศแล้วก็ยังใช้เป็นที่ฝึกการใช้อาวุธประจำอากาศยาน ทั้งภาคพื้นและภาคอากาศของกองทัพอากาศไทยเป็นส่วนรวมอีกด้วย
ส่วนตัวสนามบินของกองบินน้อยที่ ๕ แห่งนี้นั้น มีทางวิ่งเป็นดินลูกรังบดอันแน่น ๒ เส้นตัดกัน โดยเส้นเหนือ – ใต้ ยาวประมาณ ๘๐๐ เมตร ส่วนเส้นตะวันออก – ตะวันตกยาวประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร ชายสนามบินด้านตะวันตกเป็นป่าละเมาะมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ประปราย
การหาข่าวของญี่ปุ่น

วันที่ญี่ปุ่นบุกไทยเมื่อเช้ามืด ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ นั้น คนไทยต้องตื่นตะลึงแบบไม่เชื่อว่า ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำมาหากินในไทยที่ตนรู้จักและคุ้นเคยนั้นต่างกลายเป็นนายทหารญี่ปุ่นกันจนเกือบหมดสิ้น แล้วจึงประจักษ์ความจริงว่า คนญี่ปุ่นเหล่านี้ก็คือสายลับที่จำแลงกายมาหาข่าวเพื่อเตรียมรับการยกทัพผ่านประเทศไทยนั่นเอง
ที่อ่าวมะนาว อันเป็นที่ตั้งของหน่วยบินสำคัญของไทยก็เช่นเดียวกัน…
ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกในเช้า ๘ ธันวาคมนั้น พวกเขาก็ได้ส่งคนเข้ามาหาข่าวเกี่ยวกับลักษณะภูมิประเทศ ระดับน้ำทะเล ลักษณะของหาด ตลอดจนข้อมูลกำลังและขีดความสามารถของทหารและตำรวจไทยในท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไว้หมดสิ้นแล้ว ด้วยความสะดวกสบายอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ก็สืบเนื่องมาจากหลังกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสที่อินโดจีนยุติลงในต้นปี ๒๔๘๔ โดยมีญี่ปุ่นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยแล้ว กองทัพอากาศไทยก็ได้จัดส่งเครื่องบินรบที่ซื้อจากญี่ปุ่นเมื่อปลายปี ๒๔๘๓ ไปทำการฝึกการใช้อาวุธประจำเครื่องบินทั้งต่อเป้าหมายทางพื้นดินและเป็นหมายทางอากาศที่กองบินน้อยที่ ๕ นี่เอง
เครื่องบินเพิ่งได้รับใหม่ๆ มาจากญี่ปุ่นก็จึงจำเป็นต้องมีครูฝึกจากญี่ปุ่นติดตามมาถ่ายทอดความรู้ให้ด้วย นายทหารครูฝึกชาวญี่ปุ่นเหล่านี้มียศเป็นพันตรี ๑ นาย ร้อยเอก ๓ นาย รวม ๔ นายด้วยกัน โดยที่ไม่มีใครทราบว่า นอกจากทำหน้าที่ครูการบินแล้ว พวกเขาต้องทำหน้าที่สายลับหาข่าวสารทางทหารที่จำเป็นด้วย
ไม่มีใครเห็นเป็นเรื่องผิดปกติ เมื่อมีเวลาว่างตอนใด ทหารญี่ปุ่นก็จะชวนกันไปเดินออกกำลังกายตามริมทะเลทั้งสองฝั่งของอ่าวอย่างไม่รู้เบื่อหน่าย แถมยังลงเล่นน้ำทะเลไม่มีหยุดหย่อนเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ แทบไม่ซ้ำกัน พอทหารไทยนำอวนลงไปลากจับปลาตามชายฝั่งเพื่อหารายได้พิเศษจุนเจือครอบครัว ทหารญี่ปุ่นก็จะแสดงความสนใจและขอลงร่วมลากอวนด้วยทุกๆ ครั้ง เป็นที่น่ารักน่าเอ็นดูของทหารไทยเป็นอย่างยิ่ง
ไม่เพียงแต่ทหารอากาศญี่ปุ่น ๔ นายนี้เท่านั้น แต่ยังมีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งว่าจ้างเช่าเรือของชาวบ้านให้ออกไปเที่ยวลอยลำตกปลาในอ่าวประจวบและหลังเขาล้อมหมวกอยู่เสมอๆ อีกด้วย ส่วนตามเส้นทางบ้านหนองหิน – ด่านสิงขรซึ่งมุ่งเข้าสู่ดินแดนพม่าในการยึดครองของอังกฤษก็มักจะมีพ่อค้าแปลกหน้าไปเที่ยวซื้อไม้จันทน์หอมซึ่งมีอยู่มากในป่าแถบนั้นจากชาวพื้นเมืองอย่างหนาตาเป็นพิเศษ
ทั้งหมดนี้คือวิธีการเตรียมรบแบบคลาสสิคที่ไม่มีวันล้าสมัย – รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง!!

สถานการณ์โดยรวมนับแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในยุโรปเมื่อ ๒๔๘๒ เป็นต้นมานั้น เรื่องสำคัญที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามกระทำอย่างที่สุดคือการประกาศและรักษาความเป็นกลางไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของคู่สงคราม ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเพื่อรักษาความเป็นกลางไว้ให้ได้ การปลุกกระแสชาตินิยมให้ต่อสู้กับชาติใดก็ตามที่มารุกรานไทยก็เกิดขึ้น รวมทั้งความพยายามในการใช้อานุภาพทางทหารเท่าที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ ก็ตาม…
นับแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ระเบิดขึ้น ญี่ปุ่นในตอนต้นก็ยังมิได้เข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะอย่างเต็มรูปแบบในทันทีทันใด แต่ค่อยสะสมวางพื้นฐานความเข้มแข็งของตนในภูมิภาคเอเซียไปเรื่อยๆ รวมทั้งในอินโดจีนซึ่งฝรั่งเศสยังคงครอบครองอยู่ในทางนิตินัยและพฤตินัย แม้จะไม่เข้มแข็งเท่าก่อนสงครามก็ตาม
ความเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่นในอินโดจีนเมื่อปลายปี ๒๔๘๔ นั้นเริ่มเข้มข้นและส่อแสดงว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง อธิปไตย และความเป็นกลางของไทยชัดเจนยิ่งขึ้นตามลำดับ ดังนั้นในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๔ ก่อนเหตุการณ์เช้า ๘ ธันวาคม ไม่นานนัก กองบินน้อยที่ ๕ จึงได้รับคำสั่งจากกองทัพอากาศให้จัดกำลังเป็น “กองบินน้อยผสมภาคใต้” มีภารกิจในการปกป้องคุ้มครองดินแดนภาคกลางบางส่วนและภาคใต้ของประเทศไทยทั้งหมด โดยจัดวางเครื่องบินรบกระจัดกระจายกันไปตั้งแต่นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงนครศรีธรรมราช
เมื่อแยกกำลังออกไปเช่นนี้ เฉพาะที่กองบินน้อยที่ ๕ ประจวบคีรีขันธ์ จึงมีเครื่องบินรบเหลืออยู่เพียง ๑๐ เครื่องเท่านั้น เป็นเครื่องบินขับไล่แบบ ๑๗ (ฮอว์ค ๓) จำนวน ๕ เครื่อง และเครื่องบินโจมตีแบบ ๒๓ (คอร์แซร์) จำนวน ๕ เครื่อง
พร้อมปกป้องปฐพี

ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ใน www.marumura.com