รู้หรือไม่? เด็กมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ (ตั้งใจ) เรียนหนังสือแถมเอาเวลาไปทำงานพิเศษเก็บตังค์ หรือทำกิจกรรมชมรมจนหมด เรื่องเรียนรึ แค่อ่านหนังสือก่อนสอบ 1 คืน (หรือไม่อ่านไปเลย) ก็ได้เกรดแล้ว ส่วนได้เกรดเท่าไรไม่สน GPA ต่อเทอมก็ไม่รู้
ขอบอกได้เต็มปากว่า ดิฉันอยู่วงการการศึกษานี้มานาน ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น ซึ่งก็เรียนทั้งตรี-โท-เอก สมัยเรียนปริญญาโท-เอก ก็เป็น Teaching Assistant คอยช่วยอาจารย์เตรียมเอกสาร เตรียมการสอน (เตรียมข้อสอบก็ช่วยนะ) ตอนนี้เป็นอาจารย์ ก็คุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาญี่ปุ่นในฐานะอาจารย์ด้วยกัน
ดิฉันจึงโชคดีที่ได้เห็นการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นทั้งจากมุมมองนักศึกษาและอาจารย์ พร้อมหรือยังคะ กับการเจาะลึก Inside วงการการศึกษาญี่ปุ่น
…แต่น แตน แต๊น
รู้หรือไม่?
1. เด็กมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ (ตั้งใจ) เรียนหนังสือ
2. แถมเอาเวลาไปทำงานพิเศษเก็บตังค์ หรือทำกิจกรรมชมรมจนหมด
3. เรื่องเรียนรึ? แค่อ่านหนังสือก่อนสอบ 1 คืน (หรือไม่อ่านไปเลย) ก็ได้เกรดแล้ว
4. ส่วนได้เกรดเท่าไรไม่สน GPA ต่อเทอม ก็ไม่รู้
5. เพราะมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นไม่บอก GPA ในใบเกรดไง
6. แถมไม่มีระบบเกียรตินิยม
7. ไม่ให้ความสำคัญกับ GPA โดยสิ้นเชิง

เด็กญี่ปุ่นจะบ้าเรียนอย่างสุดขีดที่สุดช่วงมัธยมปลายเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ให้ได้ ชื่อเสียงมหาวิทยาลัยสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการงานในอนาคต ถ้าเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ อย่างโตได เกียวได เคโอ วาเซดะได้ โอกาสที่จะได้งานบริษัทใหญ่ๆ ดีๆ ก็มีสูงขึ้น
ชีวิตเด็กม.ปลายจึงเปรียบเสมือนหนังยางที่ถูกดึงจนตึงเปรี๊ยะ พวกเขาต้องอ่านหนังสือถึงดึกดื่น ท่องตำราต่างๆ นานามากมาย เพื่อฝ่าฟันการแข่งขันที่ดุเดือดและเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำให้ได้ หนังยางที่ดึงเปรี๊ยะ พอเข้าสู่โลกในอุดมคติ …โลกของมหาวิทยาลัย หนังยางทั้งหลายก็เลยหย่อนยานไป

ขณะที่เด็กมหาวิทยาลัยไทยตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสือ เด็กญี่ปุ่นจะเอาเวลา (ที่ควรจะเรียน) เกือบทั้งหมดไปทำงานพิเศษหาเงินกับเข้าชมรมค่ะ เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เด็กญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะหาเงินค่าขนมของตัวเอง เพราะพวกเขารู้สึกว่าพ่อแม่ต้องลำบากจ่ายค่าเทอมให้แพงอยู่แล้ว กรณีมหาวิทยาลัยรัฐ ค่าเทอมประมาณ 1.5-2 แสนบาท/เทอม ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนก็ปาไปเทอมละ 2-3 แสนบาท/เทอม ถ้าเรียนสายวิทย์หรือแพทย์ ก็ยิ่งแพงขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วเห็นพนักงานเสิร์ฟหรือแคชเชียร์หน้าใสๆ เด็กๆ เดาได้เลยค่ะว่า น้องๆ เหล่านี้เป็นเด็กมหาวิทยาลัยที่มาทำงานพิเศษแน่ๆ
ส่วนเหตุผลที่เด็กญี่ปุ่นฟิตเข้าชมรม จะกล่าวในหัวข้อถัดไปนะคะ
หนึ่งในต้นเหตุที่เด็กไม่เรียนหนังสือ…บริษัทไม่สนเกรด
บริษัทญี่ปุ่นมองว่าคะแนนที่มหาวิทยาลัยให้เชื่อถือไม่ได้สักเท่าไร ส่วนใหญ่ก็ปล่อยเกรดกันทั้งนั้น ส่วนความรู้ที่มหาวิทยาลัยสอน ก็ไม่สามารถเอามาใช้ในธุรกิจได้โดยตรง จบคณะอะไรมาก็ตาม บริษัทญี่ปุ่นจะเทรนให้ใหม่หมดอยู่ดี เพราะฉะนั้นเวลารับสมัครพนักงานใหม่ บริษัทจึงมองแค่ “ชื่อมหาวิทยาลัย” ที่เด็กเหล่านี้จบมา เพราะแค่ชื่อก็พิสูจน์ได้แล้วว่าเด็กคนนั้นอึดและหัวดีแค่ไหน
แล้วนอกจาก “เกรด” ที่วัดอะไรไม่ได้ กับ “ชื่อมหาวิทยาลัย” ที่พอเห็นภูมิหลังเด็กได้บ้างนั้น บริษัทญี่ปุ่นพิจารณาผู้สมัครจากอะไรบ้าง ถ้าให้เขียนคงเขียนได้อีกบทความหนึ่ง แต่หลักๆ เลยคือคำถามที่วัดได้ว่า “เด็กคนนั้น ผ่านอะไรมาแล้วบ้าง” คำถามสัมภาษณ์ยอดฮิตคือ “สมัยมหาวิทยาลัย ทำอะไรมาแล้วบ้าง” และ “เหตุการณ์ตอนใดในชีวิตที่คุณคิดว่าพยายามมากที่สุด”
โปรดสังเกตว่าคำถามเน้นวัดความอึด การฝ่าฟันความยากลำบากและทักษะการสื่อสาร มากกว่าระดับสติปัญญาหรือความเฉลียวฉลาดของผู้สมัคร (บริษัทก็อยากรับคนฉลาด แต่ให้ความสำคัญกับคุณสมบัติความขยันก่อน) นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมนักศึกษาญี่ปุ่นจึงทุ่มเทให้กิจกรรมชมรมนัก นอกจากจะได้เรียนรู้กิจกรรมต่างๆ ในชมรมแล้ว ยังสามารถนำประสบการณ์ชีวิตเหล่านั้นมาใช้โฆษณาตัวเองตอนสัมภาษณ์งานได้
อีกสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่เรียนหนังสือ คืออาจารย์นี่แหละ
เมื่อเด็กไม่ได้ตั้งใจเรียน ตัวอาจารย์เองก็หมดกำลังใจจะสอนอยู่แล้ว หนำซ้ำมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นไม่ประเมินผลงานอาจารย์จากการสอน เน้นผลงานด้านวิจัยเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากฝั่งอเมริกาที่วิจัยก็สำคัญ แต่การสอนของอาจารย์ก็ถูกเด็กประเมิน ถ้าสอนห่วยแตกเกินมหาวิทยาลัยอเมริกาก็ไม่ต่อสัญญาให้ (ส่วนของไทย เน้นการสอนเป็นหลัก งานวิจัยเพิ่งเริ่มมากระตือรือร้นกันช่วง 4-5 ปีนี้)
เพราะฉะนั้นสอนดีอย่างไรก็ไม่เป็นผลงาน อาจารย์มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นหลายๆ ท่านจึงเลือกเอาเวลาไปทำวิจัยเยอะๆ สอนง่ายๆ หรือไม่ก็อ่านหนังสือให้ฟัง แล้วก็ให้เกรดง่ายๆ แถมมหาวิทยาลัยดังๆ ก็ยิ่งให้ความสำคัญกับการวิจัย อาจารย์ตามมหาวิทยาลัยเหล่านี้จึงมีลักษณะที่…เอ่อ…จะบอกอย่างไรดี… สอนเข้าใจยาก เด็กส่วนใหญ่จึงมักจะหลับตายคาโต๊ะตั้งแต่ 3 นาทีแรกที่อาจารย์อ้าปากสอน (ที่ญี่ปุ่น การฟุบหน้าหลับคร่อกไปกับโต๊ะเรียน เป็นพฤติกรรมปกติในมหาวิทยาลัย และอาจารย์ส่วนใหญ่ไม่ว่าอะไร)
ที่ตลกคืออาจารย์ญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้อยากทุ่มเทเวลาให้กับการตรวจคะแนนเด็กสักเท่าไร เพื่อให้ตรวจข้อสอบง่าย อาจารย์มักจะออกข้อสอบโดย “จำกัดความยาวของคำตอบ” ค่ะ คณะเศรษฐศาสตร์ที่ดิฉันจบ อาจารย์มักจะเขียนตรงโจทย์เสมอว่าห้ามตอบเกิน 1 หน้า มีวิชาหนึ่งคะแนนเต็ม 100 คะแนน เก็บคะแนนแค่ Final เท่านั้น แถมอาจารย์ยังบอกอีกว่า ห้ามตอบเกิน 1 หน้า เป็นข้อสอบที่น่ากลัวจริงๆ ส่วนมหาวิทยาลัยไทยนั้น อาจารย์ชอบดูความอุตสาหะของนักศึกษา ยิ่งเขียนเยอะ ยิ่งมีโอกาสได้คะแนนเยอะ เด็กไทยได้สมุดตอบข้อสอบเป็นเล่มๆ ในขณะที่เด็กญี่ปุ่น ได้เป็นแผ่นบางๆ
**************
อ่านมาถึงตอนท้ายนี้ดิฉันเชื่อว่าน้องๆ นักศึกษาหลายๆ คนคงอยากกระโดดไปเรียนในมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นแน่ๆ เลย จะมีมหาวิทยาลัยในประเทศไหนที่นักศึกษาไม่ต้องอ่านหนังสือสอบเยอะ ได้เกรดง่าย แถมคนทั้งคณะไม่มีใครแคร์เรื่อง GPA อีก ไม่ต้องห่วงการตัดเกรดแบบอิงกลุ่มอิงเกณฑ์
ระบบญี่ปุ่นมันทำให้เป็นเช่นนี้ ทั้งตัวบริษัทที่รับพนักงานใหม่ มหาวิทยาลัย อาจารย์ ตลอดจน นักศึกษา เป็นกันทั้งระบบและเป็นกันมานานแล้วค่ะ (อย่างน้อยตั้งแต่ 30 ปีก่อน) อย่าไปอิจฉาเขานะคะ เพราะนักศึกษาญี่ปุ่นพอเรียนจบแล้วเริ่มทำงานก็ไปชดใช้กรรมซะ พวกเขาจะถูกฝึกอบรมถูกเคี่ยวเข็ญอย่างหนักหน่วงจากทางบริษัทอีกหลายเท่าค่ะ เราใช้เวลา 4 ปี ค่อยๆ เรียนไปดีแล้วล่ะค่ะ
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> Japan Gossip by เกตุวดี Marumura