ซากาโมโต เรียวมะ (Sakamoto Ryoma) ได้ล่วงลับจากโลกที่เขาวาดหวังไปแล้ว จากเด็กขี้แยไม่สู้คนในตระกูลซามุไรที่ไร้ซึ่งโอกาสที่จะมีบทบาทขับเคลื่อนสังคมแม้แต่ในแว่นแคว้นของตัวเอง ได้กลายเป็นตัวจักรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม คุณูปการของเขายังคงส่งผลอยู่ถึงปัจจุบัน
หลังจากที่การถวายคืนอำนาจบริหารประเทศของเรียวมะเป็นผลสำเร็จแล้ว ต่อไปก็เป็นการร่างรายชื่อสมาชิกคณะรัฐบาลใหม่ ครั้งแรกที่ไซโก้ทากาโมริเห็นรายชื่อก็เกิดความรู้สึกประหลาดใจว่า เค้าได้เห็นชื่อของบุคคลที่มาจากกลุ่มต่าง และได้เห็นชื่อของเขาในร่างรายชื่อนั้น แต่ทว่าไม่เห็นชื่อของเรียวมะแม้แต่น้อย พอถามไปที่เรียวมะว่าจะไม่มาร่วมเป็นรัฐบาลหรือ เรียวมะกลับตอบว่า “เราจะออกท่องโลกกับไคเอ็นไต” (わしは世界の海援隊をやります)

ก่อนจะถึงวันสุดท้ายของเรียวมะไม่กี่วัน เรียวมะได้ร่างนโยบายบริหารประเทศ 8 ข้อขึ้นมา โดยใช้ 8 ข้อเสนอกลางนาวาเป็นต้นแบบ ในบันทึกนั้นเรียวมะเขียนถึงตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาลว่า “ให้OOOเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล” จนถึงตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเรียวมะตั้งใจจะใส่ชื่อใครลงในช่องว่างนี้
ในช่วงนี้ได้เกิดจราจลเอย์จะไนกะ (ええじゃないか: หมายถึงจะเป็นอะไรก็ช่าง) ขึ้นในเกียวโต เกิดขึ้นเมื่อเห็นวี่แววว่าระบอบการปกครองแบบโชกุนล่มสลาย ผู้คนส่วนใหญ่เหมือนสูญเสียจุดยืน ไม่เห็นช่องทางในอนาคต ในที่สุดกลายเป็นความเสียจริต ชายคว้าชุดกิโมโนผู้หญิงมาใส่ ดื่มสุราเมามาย ตีเกราะเคาะกลองไปพลางร้อง “เอย์จาไนกะ” ไปพลาง เจออะไรที่อยากได้ก็แย่งเอามาเสียดื้อๆ จราจลนี้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวางตั้งแต่เอโดะไปจนถึงเกาะชิโกกุ เป็นช่วงเวลาประมาณ 4 เดือน
เรียวมะกลับจากการเดินทางชักจูงแนวร่วมที่เอจิเซ็น มาถึงเกียวโตในวันที่ 3 เดือน 11 ของปีเคย์โอที่ 3 (慶応3年11月3日) ตรงกับวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ.1867 คราวนี้เรียวมะย้ายที่พักจากร้านเทราดะ (寺田屋) ที่ถูกบุกโจมตีเมื่อคราวก่อน มาอยู่ที่ชั้น 2 ของร้านโชยุชื่อโอมิ (近江屋) ก่อนหน้าจะถึงวันสุดท้ายของเรียวมะ 2 วัน อิโตคาชิทาโร่ (伊東甲子太郎) อดีตสมาชิกกลุ่มชินเซ็นกุมิ (新撰組) ได้มาบอกเตือนเรียวมะว่าขณะนี้ พวกชินเซ็นฯ ได้ออกตามล่าตัวเรียวมะอยู่ เรียวมะควรจะย้ายไปอยู่ที่บ้านพักของแคว้นโทสะที่อยู่ไม่ไกลกันนัก แต่เรียวมะก็ยืนยันว่าจะอยู่ที่ร้านโอมินี่ต่อ

วันที่ 15 เดือน 11 (ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1867) เย็นนั้น นากาโอกะชินทาโร่ (中岡真太郎) เพื่อนร่วมอุดมการณ์ได้มาเยี่ยมเยียนพูดคุยกับเรียวมะ จนกระทั่ง 2 ทุ่ม มีคนกลุ่มหนึ่งอ้างตัวว่าเป็นทหารจากโทซึกาว่าจะมาขอพบเรียวมะ ยามะดะโทคิจิ (山田藤吉) คนรับใช้ซึ่งเป็นอดีตนักกีฬาซูโม่ได้บอกให้รอ แล้วตนจะขึ้นไปแจ้งเรียวมะก่อน ขณะที่โทคิจิหันหลังกลับเพื่อที่จะขึ้นบันได หนึ่งในคนกลุ่มนั้นก็ฟาดฟันดาบคมกริบเข้าที่หลังของโทคิจิส่งเสียงร้องลั่นด้วยความเจ็บปวด ทั้งเรียวมะและชินทาโร่สะดุ้งด้วยความตกใจ ก่อนที่เรียวมะจะพูดออกมาว่า “อย่าเอะอะไป!” พลางจะคว้าดาบที่ถอดวางไว้ห่างๆ แต่ทว่าช้าไปเสียแล้ว พวกมือสังหารได้บุกประชิดถึงตัวเรียวมะ ฟันดาบแรกเข้าที่เหนือหน้าผากของเรียวมะ มือสังหารอีกพวกหนึ่งเข้าโจมตีชินทาโร่ เรียวมะพยายามที่จะยืนขึ้นแต่ก็ถูกฟันจะล้มลุกคลุกคลาน เมื่อเห็นว่าเรียวมะไม่รอดแน่แล้วมือสังหารก็หลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ ทิ้งเรียวมะที่เหลือเพียงลมหายใจรวยระรินกับชินทาโร่ที่มีสภาพไม่ดีไปกว่าเรียวมะนักไว้
“อิชิกาวะ ดาบอยู่ไหน” เรียวมะเรียกชินทาโร่ด้วยชื่อปลอมที่ใช้ตอนเคลื่อนไหวหาแนวร่วม แล้วอีกสักพักเรียวมะก็พูดกับชินทาโร่อีกว่า “สมองเราไหลออกมาเลย เห็นท่าจะไม่ไหวแล้วหล่ะ”
ขณะที่เกิดเหตุ เจ้าของร้านโอมิได้รีบไปแจ้งเหตุที่บ้านพักของแคว้นโทสะ คาโมดะผู้ดูแลซามุไรสามัญจึงรีบรุดมา ก่อนที่จะเข้าไปในที่เกิดเหตุ คาโมดะก็ได้พบกับคิคุยะที่เรียวมะใช้ให้ไปซื้อต้มไก่ชนของโปรดเรียวมะกลับมาพอดี แต่กว่าที่ทั้งสองจะเข้าไปถึงที่เกิดเหตุเหล่ามือสังหารก็ไปออกไปหมดแล้ว แล้วข่าวการสังหารเรียวมะก็แพร่กระจายไปในค่ำคืนนั้น

เรียวมะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ โทคิจิเสียชีวิตในวันต่อมา คำให้การในที่เกิดเหตุส่วนใหญ่มาจากคำให้การของชินทาโร่ผู้ซึ่งเสียชีวิตในอีก 2 วันหลังจากเกิดเหตุ และในวันที่ 3 หลังจากเกิดเหตุคาชิทาโร่ผู้แจ้งเหตุก็ถูกฆาตกรรมตามมา มีคำบอกเล่าว่า ขณะที่คาชิทาโร่ถูกสังหารได้มีคนได้ยินเสียงของคาชิทาโร่ร้องว่า “เจ้าคนทรยศ” ก่อนที่จะมาพบเป็นศพในเวลาถัดมา
ฆาตกรในคดีสังหารเรียวมะนี้ จวบจนวันนี้ก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่ มีการสันนิษฐานตัวฆาตกรไว้หลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการสังหารโดยกลุ่มผู้ภักดีต่อระบบโชกุน เช่น ชินเซ็นกุมิ หรือเป็นการแก้แค้นจากลุ่มที่ต้องจ่ายสินไหมให้กับกรณีเรืออิโรฮะมารุ หรือเป็นการว่าจ้างสังหารจากกลุ่มผู้ค้าอาวุธที่เสียประโยชน์จากการที่ไม่มีสงครามโค่นตระกูลโตกุกาวะ นอกจากนี้ในหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ยังพบว่ามีบุคคลหลายกลุ่มอ้างความรับผิดชอบในการสังหารเรียวมะครั้งนี้ แต่ก็มักจะมีหลักฐานหักล้างไปเสียทุกครั้ง
ซากาโมโต เรียวมะ (Sakamoto Ryoma) ได้ล่วงลับจากโลกที่เขาวาดหวังไปแล้ว จากเด็กขี้แยไม่สู้คนในตระกูลซามุไรที่ไร้ซึ่งโอกาสที่จะมีบทบาทขับเคลื่อนสังคมแม้แต่ในแว่นแคว้นของตัวเอง ได้กลายเป็นตัวจักรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม คุณูปการของเขายังคงส่งผลอยู่ถึงปัจจุบัน ทุกคนในสังคมได้รับโอกาสในการทำงานราชการอย่างเท่าเทียม กิจการการค้ากับต่างประเทศขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง เป็นรากฐานการพัฒนาประเทศญี่ปุ่นให้เจริญรุ่งเรือง

ทุกวันนี้เรียวมะและชินทาโร่พักผ่อนอย่างสงบอยู่กับพรรคพวกชาวไคเอ็นไตที่สุสานศาลเจ้าโกคกคุ (京都霊山護国神社) ที่เกียวโต