การเกิดขึ้นของซูโม่ ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยทำให้เกิดศิลปะการต่อสู้แขนงใหม่ๆ ขึ้นมาในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) หรือกระทั่งมวยปล้ำอาชีพ
เมื่อพูดถึงกีฬาของประเทศญี่ปุ่น เชื่อว่าหลายคนคงจะนึกถึง “ซูโม่” เพราะกีฬาชนิดนี้เป็นเหมือนการต่อสู้แห่งเกียรติยศของชาวญี่ปุ่น และเป็นกีฬาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าร้อยปี แต่มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและคนส่วนใหญ่ไม่ทราบ นั่นก็คือการเกิดขึ้นของซูโม่ ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยทำให้เกิดศิลปะการต่อสู้แขนงใหม่ๆ ขึ้นมาในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) หรือกระทั่งมวยปล้ำอาชีพ
อย่างที่เราทราบกันดีว่าในสมัยก่อนช่วงสงครามโลก ประเทศญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นอนุรักษ์นิยม (Conservative) อย่างรุนแรง จนดูเหมือนปิดประเทศโดยพฤตินัย ในวงการกีฬาก็เช่นกัน ในช่วงเวลาดังกล่าว กีฬาที่ได้รับความนิยมมีเพียง ซูโม่ และ ยูโด เท่านั้น และดูเหมือนว่าสิทธิ์ในการเข้าถึงกีฬาเหล่านี้ จะจำกัดอยู่เพียงเพื่อชาวญี่ปุ่นอย่างเดียว
ผมขอเล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในวงการศิลปะการต่อสู้ญี่ปุ่น นั่นก็คือช่วงเวลาประมาณปี ค.ศ. 1924 ที่เกาหลียังคงอยู่ภายใต้กฎการปกครองแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น (Korea under Imperial Japanese rule) ตอนนั้นเอง เด็กชายชาวเกาหลีเหนือชื่อ “คิมซินรัก” ได้ถือกำเนิดขึ้นมาและเด็กคนนี้คือคนที่ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งศิลปะการต่อสู้ญี่ปุ่นยุคใหม่” นั่นเพราะตัวเขาเองเป็นคนเกาหลี แต่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่ามีสถานะทางสังคมที่ถูกแบ่งแยก เขาจึงเลือกหันมาเล่นซูโม่ เพื่อทำตนเองให้อยู่ในครรลองของวัฒนธรรมญี่ปุ่น
เวลาผ่านไป… เขากลายเป็นนักซูโม่ที่มีฝีมือดีมาก ถึงขนาดได้รับการคาดหมายว่าจะกลายเป็นโยโกะซูนะ (อันดับสูงสุดของกีฬาซูโม่) ในเวลาอันรวดเร็ว เพียงแต่สิ่งเลวร้ายก็เกิดขึ้น เพราะว่าเขาเป็นคนเกาหลี การได้ดิบได้ดีไปกว่าคนญี่ปุ่นคือเรื่องที่ “ยอมไม่ได้” เหตุนี้ทางสมาคมซูโม่จึงพยายามกีดกันเขาด้วยวิธีต่างๆ นานา จนทำให้เขาต้องยุติการเป็นนักซูโม่ ด้วยตำแหน่ง “เซกิวาเกะ” (อันดับที่ 3 ของกีฬาซูโม่) เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม วิกฤติดังกล่าว กลับพลิกแพลงเป็นโอกาสครั้งใหญ่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อเขาได้รับคำชวนจาก “ฮาโรลด์ ซากาตะ” อดีตนักยกน้ำหนักระดับเหรียญเงินโอลิมปิก ให้ไปร่วมฝึกมวยปล้ำอาชีพที่ฮาวาย ซึ่งคิม ซิน รัก (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “มิตสึฮิโระ โมโมตะ” เพื่อให้มีความเป็นญี่ปุ่น) ก็ตอบรับอย่างไม่ลังเล เพราะตนก็มองไม่เห็นหนทางที่จะเติบโตในญี่ปุ่นอีกต่อไป
และแล้วโชคชะตาก็เข้าข้าง เพราะขณะที่เขากำลังฝึกมวยปล้ำจนมีฝีมือยอดเยี่ยม ก็ตรงกับช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกพอดี ซึ่งตอนนั้นคือช่วงเวลาที่ประชาชนในประเทศรู้สึกหมดขวัญกำลังใจอย่างที่สุด ดังนั้นการกลับมาญี่ปุ่นของเขา ในชื่อใหม่ว่า “ริกิโดซัง” จึงเป็นเรื่องที่เหมาะมาก เพราะประเทศญี่ปุ่นกำลังแสวงหาใครสักคนที่มาเป็นฮีโร่ ใครสักคนที่จะกลายเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจให้กับประชาชน…
อย่างที่เราทราบกันว่า “มวยปล้ำอาชีพ” คือ “การแสดง” เขาจึงอาศัยข้อได้เปรียบตรงนี้ในการสร้างตนเองเป็น “ฮีโร่ของประเทศ” โดยการเชิญนักมวยปล้ำจากอเมริกามาแข่ง และสู้กันอย่างสูสี เสมอบ้าง แพ้บ้าง ชนะบ้าง แต่เหนือสิ่งอื่นใด นี่คือการแสดงให้คนญี่ปุ่นเห็นว่า “คนญี่ปุ่นเองก็สามารถสู้กับคนอเมริกาได้ เปรียบเหมือนการแพ้สงคราม วันหน้าเราก็กลับลุกขึ้นมาชนะได้เช่นกัน” จุดนี้เองคือการเริ่มต้นยุคใหม่ของศิลปะการต่อสู้ญี่ปุ่น

แต่ทุกความสุขย่อมมีมุมมืด… เรื่องนี้ก็เช่นกัน
อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่าเดิมทีญี่ปุ่นมีกีฬาที่นิยมอยู่สองอย่างคือ ซูโม่ และ ยูโด… เหตุนี้จึงมีการจัดอีเวนท์มวยปล้ำครั้งใหญ่ขึ้นมาโดยมีแชมป์มวยปล้ำญี่ปุ่น อย่าง “ริกิโดซัง” ปะทะกับ “มาซาฮิโกะ คิมุระ” ชายที่ได้ชื่อว่าเก่งยูโดที่สุดในโลก…
การแข่งขันครั้งนี้มีความคาดหวังสูงมาก และได้รับการคาดหมายว่าจะสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับผู้จัด แต่สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อริกิโดซัง พยายามทำร้ายนอกเกม และเล่นงานคิมูระจนสลบ จนกลายเป็นฝ่ายชนะไปได้ ท่ามกลางความไม่พอใจของเหล่ายากูซ่า ที่ต้องสูญเสียผลประโยชน์จากตัวของคิมูระ (เพราะคิมูระทำเงินได้จากฉายา “นักยูโดที่เก่งที่สุดในโลก” แต่การแพ้น็อคทำให้มูลค่าในตัวลดลง) เหตุนี้จึงนำไปสู่การฆาตกรรม ริกิโดซัง ด้วยมีดชุบปัสสาวะ ที่ผับแห่งหนึ่งในย่านกรุงโตเกียว…
เขาจากไปโดยไม่ทันร่ำลา ทิ้งไว้เพียงรากฐานของกีฬามวยปล้ำเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ศิษย์เอกคนหนึ่งของเขามีชื่อว่า “อันโตนิโอ อิโนกิ” ชายคนนี้กลายเป็นนักมวยปล้ำที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น และเขาคือคนต่อยอดสิ่งที่ริกิโดซังทำ โดยการขยายขอบเขตกีฬาศิลปะการต่อสู้ จากมวยปล้ำไปเป็นการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ในแมตช์หยุดโลก ระหว่าง อันโตนิโอ อิโนกิ และ มูฮัมเหม็ด อาลี ซึ่งถือเป็นแมตช์ในตำนาน และเป็นการต่อสู้แบบผสมผสานแมตช์แรกของโลกอีกด้วย (ปัจจุบันการต่อสู้แบบนี้ได้รับความนิยมมากในสหรัฐอเมริกา อย่างเช่นสมาคม UFC , STRIKEFORCE) และจากจุดเริ่มต้นเหล่านี้เอง ที่ได้ต่อยอดเป็นการต่อสู้แขนงใหม่ๆ เช่น K-1, Pride FC, Pancrase และอื่นๆ อีกมากมาย

นี่ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่งเกี่ยวกับกีฬาต่อสู้ของประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ชื่อว่าเป็น Landmark ของนักสู้ทั่วโลกที่อยากจะวัดฝีมือตนเอง มียอดนักสู้มากมายเกิดขึ้น หรือสร้างชื่อที่ดินแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ ดังนั้นย่อมแสดงให้เห็นว่าเรื่องราวทั้งหมดมีความหมาย ทุกการสูญเสีย… ทุกความพยายามได้ต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีมิติทางศิลปะการต่อสู้มากกว่าชาติใดใน โลกนี้
เรื่องแนะนำ :
– TOKYO JOSHI ค่ายมวยปล้ำหญิงที่มาแรงที่สุดของประเทศญี่ปุ่น
– ฟุกุอิเมืองที่ทำให้ความสุขเบ่งบาน
– Eihei-ji วัดในตำนานที่ชีวิตนี้ต้องไปเยือนสักครั้ง
– พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่ FUKUI 1 ในสถานที่ที่ดีที่สุดในโลกสำหรับคนรักไดโนเสาร์
– TONAMI : THE CITY OF TULIP “เมืองแห่งทิวลิปที่สวยที่สุดในโลก”