ทำไมรูปหัวขโมยญี่ปุ่นต้องแบกห่อผ้าสีเขียวมีลายม้วน ๆ
สวัสดีค่ะ เคยสงสัยไหมคะ ว่าทำไมพอพูดถึง “หัวขโมย” ในแบบญี่ปุ่น ภาพที่ปรากฏในหัวของคนญี่ปุ่นรวมทั้งคนไทยจำนวนไม่น้อยถึงเป็นรูป “คนมีผ้าปิดหน้าแบกห่อผ้าสีเขียวมีลายม้วน ๆ สีขาว” จนหลายคนสงสัยว่า แล้วทำไมหัวขโมยญี่ปุ่นถึงต้องใช้ผ้าลายนี้ด้วยล่ะ? เป็นสัญลักษณ์อะไรของเขาหรือเปล่านะ?
ที่มาของเรื่องนี้นั้นน่าสนใจดีค่ะ แม้แต่อนิเมะการ์ตูนตอนสั้นแต่ฉายมายาวนานหลายสิบปีอย่างเรื่อง “ซาซาเอะซัง” ยังเคยนำเสนอตอนหนึ่งที่ชื่อว่า “ผ้าฟุโรชิกิที่น่าสงสาร” ในปี 2020 โดยในเรื่องเด็กชายโฮริคาวะเดินเห็นบ้านซาซาเอะตากผ้าลายนี้ไว้ จึงบอกให้รีบเก็บเพราะเหมือนเป็นการบอกว่าที่บ้านเป็นหัวขโมย เพราะเขาเห็นว่าเป็นผ้าลายเดียวที่หัวขโมยใช้บนแผ่นประกาศเตือนให้ระวังขโมยนักย่องเบา ในเรื่องมีเด็กหลายคนค้นเจอผ้าลายนี้ที่บ้านยังตกใจว่าที่บ้านทำอาชีพขโมยหรือ ต่อมาผู้ใหญ่จึงได้อธิบายให้เขาและเด็ก ๆ ฟังถึงที่มาจนเข้าใจ
ภาพรูปหัวขโมยจากการ์ตูนเรื่องซาซาเอะซัง
เราจะมาเรียนรู้ที่มาอย่างละเอียดกันในบทความนี้ ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับผ้าห่อของสีเขียวและลวดลายม้วน ๆ ที่ว่ากันก่อนนะคะ
ผ้าห่อของฟุโรชิกิ
ผ้าฟุโรชิกิสมัยใหม่สีสันสดใส
คนญี่ปุ่นใช้ผ้าห่อของกันมายาวนานตั้งแต่สมัยโบราณนับพันปีแล้ว โดยเริ่มมีการใช้มาตั้งแต่สมัยนารา (ค.ศ. 710-794) แต่มาเรียกว่า “ฟุโรชิกิ” (風呂敷) กันในสมัยมุโรมาจิ (ค.ศ. 1336 -1573) คำนี้หมายถึง “ผ้าที่แผ่ในห้องอาบน้ำ” ค่ะ สมัยนั้นห้องอาบน้ำเต็มไปด้วยไอน้ำจากสมุนไพรคล้ายซาวน่า มีระแนงปูที่พื้นแต่ร้อนมากจึงต้องวางผ้าก่อนที่จะลงนั่ง
นอกจากนี้มีบันทึกว่า เมื่อโชกุนอะชิคางะ โยชิมิทสึสร้างห้องอาบน้ำขนาดใหญ่และเชิญไดเมียวทั้งหลายมาร่วมอาบน้ำกัน ไดเมียวแต่ละคนต่างห่อเสื้อผ้าของตนด้วยผ้าฟุโรชิกิที่มีลายประจำตระกูลเพื่อไม่ให้ปะปนกัน เมื่ออาบเสร็จแล้วก็จะยืนเช็ดตัวบนผ้านี้ก่อนจะออกไปจากโรงอาบน้ำ
ผ้านี้มีการใช้อย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชนเมื่อเข้าสู่ยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) ที่สงบสุข ผู้คนใช้ผ้าฟุโรชิกิห่อข้าวของเครื่องใช้กันทั่วไป บ้างห่อเสื้อผ้าไปอาบน้ำที่โรงอาบน้ำที่สร้างขึ้นมากมาย บ้างห่อของใช้ส่วนตัวในการเดินทางตามทางหลวงที่มีการบุกเบิกไปทั่วประเทศ
ภาพวาดหญิงสาวถือห่อผ้าฟุโรชิกิ
ผ่านไปหลายยุคสมัยจนถึงปัจจุบันที่แม้มีกระเป๋าหรือถุงหลากหลายวัสดุและรูปแบบให้เลือกใช้แล้ว แต่คนญี่ปุ่นยังใช้ผ้าฟุโรชิกิห่อกล่องข้าวอาหารกลางวัน หรือห่อสิ่งของเป็นของขวัญให้ผู้อื่นค่ะ
ผ้าฟุโรชิกิสำหรับห่อสิ่งของเป็นของขวัญ
ลวดลายผ้าฟุโรชิกิ
ผ้าฟุโรชิกิมีทั้งแบบสีพื้นธรรมดาและมีลวดลาย ซึ่งอาจเป็นลวดลายวิจิตรตระการตา หรือลวดลายพื้นฐานต่อเนื่องกันทั้งผืน แต่อย่างหลังเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไปเพราะแม้เปรอะเปื้อนบ้างก็ยังดูกลมกลืน ลวดลายเหล่านี้มีมากมาย ต่างมีชื่อเรียกและความหมายที่เป็นมงคล
แน่นอนว่าลวดลายพื้นฐานที่ปรากฎบนเสื้อผ้าตัวละครในเรื่องดาบพิฆาตอสูร (Kimetsu no Yaiba) ก็ถูกนำมาใช้เป็นผ้าฟุโรชิกิเช่นกันค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
ลายอิจิมัตสึ (市松) หรือลายสี่เหลี่ยมสองสีต่างเรียงสลับกันเหมือนตาหมากรุก มีความหมายถึงการมีลูกหลานสืบสกุล ว่ากันว่าตั้งชื่อตามนักอุปรากรคาบุกิ ซาโนะงาวะ อิจิมัตสึ ที่เป็นบุคคลแรกที่นำลายนี้มาใช้กับกางเกงผ้าฮาคามะ
ลวดลายอิจิมัตสึ
ลายอาซาโนะฮะ (麻の葉) หรือลายใบต้นป่าน ต้นป่านเจริญเติบโตรวดเร็ว ลายผ้านี้จึงเป็นการอวยพรให้เด็กเติบโตอย่างมีสุขภาพแข็งแรงและได้รับการพิทักษ์รักษา
ลวดลายอาซาโนะฮะ
ลายอุโรโกะ (鱗) หรือลายเกล็ดสามเหลี่ยมคล้ายงูหรือมังกร จึงมีความหมายถึงการขับไล่ภูติผีปิศาจและยันตรายต่าง ๆ
ลวดลายอุโรโกะ
ลายเซไงฮะ (青海波) หรือลายคลื่น สื่อถึงความสุขและสันติที่มีมาไม่ขาดสายดั่งคลื่นทะเล และยังเห็นภาพตัวอักษร 八 (แปด) ที่เป็นมงคลแฝงในลวดลายมากมาย
ลวดลายเซไงฮะ
ผ้าลายคาราคุสะ
สำหรับลวดลายที่นิยมใช้กับผ้าฟุโรชิกิอีกลายหนึ่งคือ ลายคาราคุสะ (唐草) ที่ดูเป็นลายคล้ายน้ำวนแตกแขนงออกไป แต่จริง ๆ แล้วเป็นลายทำเลียนแบบเถาวัลย์หรือไม้เลื้อย และมีการประยุกต์ลายนี้เข้ากับพรรณไม้อื่น ๆ มากมาย เช่น ดอกโบตั๋น ดอกเบญจมาศ ดอกบัว เป็นต้น
ต้นแบบของลวดลายคาราคุสะมาจากต่างประเทศย้อนไปได้ถึงสมัยอียิปต์โบราณส่งต่อมาถึงยุโรป โดยปรากฎลายตามศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมต่าง ๆ โดยเรียกว่า ลายพรรณพฤกษา (Arabesque) ในช่วงที่มีการค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างยุโรปและจีนโดยเส้นทางสายไหม (Silk Road) ลายพรรณพฤกษานี้จึงเผยแพร่มายังประเทศจีน และญี่ปุ่นได้รับลวดลายนี้มาจากจีนอีกทีในสมัยนารา (ค.ศ. 710-794) จึงเรียกว่า “ลายเถาจีน” ตามชื่อ
ผ้าฟุโรชิกิลายคาราคุสะ
ลายคาราคุสะนี้ถูกนำมาทำเป็นผ้าฟุโรชิกิในช่วงสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) โดยถือว่าเป็นลายมงคลอำนวยพรให้มีอายุยืนยาวและมีลูกหลานสืบสกุลเหมือนเถาวัลย์ที่แผ่ขยาย จึงนิยมเอามาใช้ห่อเครื่องเรือนตบแต่งเข้าบ้านในพิธีแต่งงานด้วย และเป็นที่นิยมมากในช่วงสิ้นสุดสมัยเอโดะเข้าสู่สมัยเมจิ (ค.ศ. 1868 – 1912) และต่อเนื่องมาจนถึงสมัยโชวะ (ค.ศ.1926-1989) ค่ะ
ผ้าฟุโรชิกิลายคาราคุสะกับภาพจำหัวขโมย
จากที่อธิบายไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ผ้าฟุโรชิกิลายคาราคุสะเป็นที่คุ้นเคยมายาวนานมาหลายยุคสมัย ทำให้เรียกได้ว่า “เป็นผ้าที่มีทุกบ้าน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีโชวะที่ 40 หรือราวปี 1965 ที่ผ้าลายนี้ได้รับความนิยมสูงสุด เดินไปไหนก็พบเจอแต่ผู้คนถือข้าวของห่อด้วยผ้าลายนี้เต็มไปหมดค่ะ
นอกจากนี้ภายในบ้านยุคเก่านิยมใช้ตู้ลิ้นชักไม้ขนาดใหญ่และมีธรรมเนียมบรรจุของมีค่า เช่น เครื่องประดับ ชุดกิโมโนราคาแพงไว้ในลิ้นชักชั้นบน ส่วนชั้นกลางและชั้นล่างจะใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงผ้าฟุโรชิกิที่จะเก็บไว้ในลิ้นชักเก็บของชั้นล่างสุดเพื่อความสะดวกในการใช้งาน
ตู้ลิ้นชักไม้แบบโบราณมีรูกุญแจ
พฤติกรรมของหัวขโมยนักย่องเบาจะแอบเข้าไปในบ้านตัวเปล่าหรือพกอุปกรณ์น้อยชิ้นสำหรับสะเดาะกุญแจ เมื่อเข้าไปแล้วจะเปิดตรวจลิ้นชักล่างสุดก่อนว่ามีผ้าฟุโรชิกิหรือไม่ ถ้ามีก็จะเปิดกางไว้กับพื้นแล้วไล่เปิดลิ้นชักจากล่างสุดขึ้นไปข้างบน
การเปิดลิ้นชักจากล่างขึ้นไปข้างบนนั้นเป็นเทคนิคประหยัดเวลาของหัวขโมย เพราะสามารถดูแล้วหยิบของในแต่ละชั้นได้ทันที ต่างจากการเปิดลิ้นชักไล่จากบนลงล่างที่ต้องเลื่อนปิดชั้นบนก่อนถึงจะหยิบของจากชั้นล่างได้ เมื่อได้ของมีค่าแล้วหัวขโมยจะรวบผ้าฟุโรชิกิ แล้วหนีออกไปเดินปะปนไปกับผู้คนบนท้องถนนที่ใช้ผ้าลายนี้กันทั่วไปได้โดยไม่ผิดสังเกต
ในสมัยโชวะเป็นยุคที่มีการ์ตูนและละครตามสื่อออกมามากมาย และมีการสอดแทรกภาพหัวขโมยปกปิดใบหน้าดูน่าสงสัยแบกห่อผ้าสีเขียวลายคาราคุสะอยู่ในเรื่องราว จึงกลายเป็นภาพจำหัวขโมยของคนส่วนใหญ่จนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะสีและลายผ้าที่กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับรูปหัวขโมย
หน้าตาน่าสงสัย+ผ้าสีเขียวมีลายก็กลายเป็นขโมยได้แล้ว
สรุปได้ว่า ภาพจำหัวขโมยแบกของห่อผ้าฟุโรชิกิลายคาราคุสะ มาจากความนิยมในการใช้ผ้าลายนี้ ประกอบกับธรรมเนียมการจัดเก็บสิ่งของและพฤติกรรมของหัวขโมยที่ออกมาตามสื่อการ์ตูนในสมัยก่อนนั่นเองค่ะ
(แถม) ผ้าพิมพ์ลายยุคใหม่ ลายคาราคุสะกับน้องแมว เป็นการผสมผสานความน่ารักกับความคลาสสิคได้ลงตัวดีนะคะ
เรื่องแนะนำ :
– ทำความรู้จัก 6 ท่านั่งแมวเหมียวในภาษาญี่ปุ่น
– พฤติกรรมการใส่น้ำหอมและเคล็ดลับสไตล์สาวญี่ปุ่น
– ทำความรู้จัก 13 ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ในญี่ปุ่น
– โชทรี : ถ้วยซอสธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
– เมื่อมอเตอร์ไซค์กลับมาเป็นที่นิยมของหนุ่มใหญ่ชาวญี่ปุ่น
สรุปเนื้อหาและภาพประกอบจาก
– https://news.mynavi.jp
– https://nyuyoku-kyoukai.com
– http://furoshiki.life.coocan.jp
– https://nanotown01.com
– https://www.youtube.com
– https://kohacu.com
– https://chicodeza.com
– https://www.nippori-tomato.com
#ทำไมรูปหัวขโมยญี่ปุ่นต้องแบกห่อผ้าสีเขียวมีลายม้วน ๆ