การจะได้วีซ่านักเรียนมานั้น ไม่ใช่ว่าจะเดินดุ่ยๆ ไปสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย แล้วขอวีซ่านักเรียนได้เลยนะคะ จะต้องผ่านขั้นตอนสำคัญอย่างหนึ่งก่อนนั่นคือ “การขอสถานภาพการพำนัก”
แม้ว่าในปัจจุบัน คนไทยเราจะไปเที่ยวญี่ปุ่นได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องขอวีซ่า โดยอยู่ในญี่ปุ่นได้ไม่เกิน 15 วัน แต่การไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ในระดับมัธยมปลาย วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และสถาบันสอนภาษาญี่ปุ่นหลักสูตรระยะยาว (1 – 2 ปี) นั้น เราจะไปเรียนไปใช้ชีวิตในญี่ปุ่นกันด้วยวีซ่า“นักเรียน” Student visa หรือเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า 留学 ryugaku ค่ะ

การจะได้วีซ่านักเรียนมานั้น ไม่ใช่ว่าจะเดินดุ่ยๆ ไปสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย แล้วขอวีซ่านักเรียนได้เลยนะคะ จะต้องผ่านขั้นตอนสำคัญอย่างหนึ่งก่อนนั่นคือ “การขอสถานภาพการพำนัก”
สถานภาพการพำนักคืออะไร
คือตัวกำหนดสถานภาพของคนต่างชาติในญี่ปุ่น รวมทั้งประเภทของกิจกรรมที่คนต่างชาติในญี่ปุ่นจะมีส่วนเกี่ยวข้องได้ โดยแบ่งออกเป็น 27 ประเภท เช่น สถานภาพนักเรียน อาจารย์ ศิลปิน สื่อมวลชน นักลงทุน นักวิจัย คู่สมรสหรือบุตร ฯลฯ ซึ่งแต่ละประเภทมีกำหนดระยะเวลาในการพักอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นแตกต่างกันไป
แต่ที่เราจะคุยกันวันนี้จะเป็นเรื่องของสถานภาพ “ นักเรียน” สำหรับผู้ที่ไปเรียนต่อญี่ปุ่นด้วยทุนของตัวเองเท่านั้นนะคะ
ขั้นตอนการขอสถานภาพการพำนัก
ในการขอสถานภาพการพำนัก “นักเรียน” ที่ญี่ปุ่นนั้น โดยทั่วไปแล้ว ทางสถาบันการศึกษาที่เราสมัครไปเรียนจะทำหน้าที่เป็น “ตัวแทน” ดำเนินการให้กับเราค่ะ โดยที่เราจะต้องเตรียมเอกสารต่างๆ มากมาย ทั้งหลักฐานการศึกษา ใบรับรองผลการเรียน หลักฐานการทำงาน (สำหรับผู้ที่ทำงานแล้ว) ไปจนถึงหลักฐานการทำงานและการเงินของผู้ที่จะออกเงินให้เราไปเรียนที่ญี่ปุ่น
เมื่อยื่นใบสมัคร พร้อมหลักฐานประกอบการสมัคร และชำระค่าสมัครเรียนแล้ว ทางสถาบันการศึกษาจะเป็นผู้ยื่นเรื่องกับกองตรวจคนเข้าเมืองประเทศญี่ปุ่น (ตม.) ในพื้นที่ที่สถาบันตั้งอยู่ เพื่อขอ “ใบสถานภาพการพำนัก” ให้เราค่ะ

ทางตม. จะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 1 – 3 เดือนนับจากวันที่ได้รับเอกสาร แต่ในความเป็นจริง เราจะต้องเตรียมตัว เตรียมเอกสารเพื่อสมัครเรียนล่วงหน้าประมาณ 4 เดือนค่ะ หากกรณีที่เอกสารไม่ครบ หรือมีปัญหาใด ๆ จะสามารถแก้ปัญหาได้ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสมัครเรียนในโรงเรียนสอนภาษาที่ญี่ปุ่น จะมีกำหนดการปิดรับเอกสารที่ทางตม.กำหนดไว้อย่างชัดเจน หากยื่นสมัครเรียนไม่ทันตามกำหนด จะต้องนั่งรอไปอีก 3 เดือนหรือ 6 เดือน เพื่อสมัครเรียนในเทอมถัดไปเลยล่ะค่ะ
คำถามที่ถามกันบ่อยคือ มีโอกาสไม่ผ่านการพิจารณา “สถานภาพนักเรียน” จากกองตรวจคนเข้าเมืองไหม?
คำตอบคือ “มี” ค่ะ
หากไม่ผ่านการพิจารณา ทางตม.จะมีเอกสารแจ้งให้ทราบโดยคร่าวๆ ว่าไม่ผ่านเพราะสาเหตุใด จากประสบการณ์ที่เจ๊
พบมากที่สุด คือ สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการทำผิดกฎหมายวีซ่าญี่ปุ่น เช่น หนีวีซ่า อยู่ในญี่ปุ่นเกินวีซ่าที่กำหนด เป็นต้น หรือแม้แต่ตัวผู้สมัครเองที่มีประวัติการขอวีซ่าไม่ผ่านมาก่อน พยายามปกปิดข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง ซึ่งคนไทยเราอาจจะคิดง่ายๆว่า ญี่ปุ่นคงไม่รู้หรอก คงไม่มีใครมาสืบประวัติเราหรอก แต่จริงๆแล้ว เค้าสามารถเช็คได้ค่ะ แถมเช็คย้อนหลังไปได้หลายสิบปี
รองลงมาอีกเรื่องคือหลักฐานทางการทำงานและการเงินของผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการไปเรียนมีน้อยเกินไป หรือดูไม่สมเหตุสมผล ซึ่งตรงจุดนี้ทางญี่ปุ่นอาจจะเกรงว่า เราจะไม่สามารถเรียนและใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นได้ อาจจะไปเพื่อทำงานหาเงินมากกว่าที่จะไปเรียนจริงก็เป็นได้
หลังจากที่ได้ใบสถานภาพการพำนัก หรือ Certificate of Eligibility เรียกย่อๆว่า COE มาแล้ว คราวนี้ถึงจะได้ฤกษ์ไปขอ “วีซ่า” ที่สถานทูตญี่ปุ่นหรือสถานกงสุลญี่ปุ่นประจำประเทศไทยค่ะ มาถึงขั้นตอนนี้ ก็ไม่ต้องกังวลแล้วค่ะว่าวีซ่าจะไม่ผ่าน โอกาสที่วีซ่าไม่ผ่านมีน้อยมากๆ คนที่วีซ่าไม่ผ่านในขั้นตอนนี้ แปลว่าต้องเคยทำอะไรผิดกฎหมายหรือมีประวัติอาชญากรแล้วล่ะค่ะ


เมื่อวีซ่าผ่าน เราจะได้ประทับหน้าวีซ่ามาให้ชื่นใจว่า เป็น Student Visa ได้ไปเป็นนักเรียนที่ญี่ปุ่นแน่นอนแล้วล่ะ ส่่วนระยะเวลาที่นักเรียนจะอยู่ในญี่ปุ่นได้นานเท่าไหร่นั้น โดยทั่วไป จะได้วีซ่าครั้งแรกประมาณ 1 ปี 3 เดือน หรือ 2 ปี 3 เดือน
ถ้าจะต้องเรียนต่อนานกว่านั้น สามารถยื่นเรื่องต่ออายุวีซ่าได้ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่…ในการต่ออายุวีซ่านักเรียนนั้น ต้องมีเอกสารแสดงเปอร์เซ็นต์การเข้าเรียน หรือใบเกรดแสดงผลการเรียนด้วย ไม่ใช่ว่าเรียน ๆ เล่น ๆ ก็จะสามารถต่อวีซ่ากันได้ง่ายๆ หมดทุกคนนะคะ โดยเฉพาะในโรงเรียนสอนภาษาแล้ว ทางโรงเรียนจะทำเรื่องต่อวีซ่าให้นักเรียนค่ะ แต่ถ้าเปอร์เซ็นต์การเข้าเรียนต่ำกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ล่ะก็ นักเรียนต้องไปดำเนินการต่อวีซ่าเองนะคะ ซึ่งจะมีโอกาสที่จะไม่ได้รับการต่อวีซ่า เพราะวีซ่านักเรียนเค้าให้มา “เรียน” นี่คะ ไม่ได้ให้มาโดดเรียน

วีซ่านักเรียนทำอะไรได้บ้าง
– สามารถขออนุญาตทำงานพิเศษได้ค่ะ โดยมีกำหนดว่าสามารถทำงานได้ไม่เกิน 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
– ซื้อตั๋วรถไฟ รถบัสแบบตั๋วเดือนได้ในราคาพิเศษ แต่ทั้งนี้ จะได้ลดมากหรือลดน้อยก็ขึ้นอยู่กับประเภทของสถาบันการศึกษาอีกค่ะ อาจจะได้ลดตั้งแต่ 20% ไปจนถึง 60% เลยก็มี
– เข้าพิพิธภัณฑ์บางแห่งได้ฟรี บางแห่งสามารถแสดงบัตรนักเรียนเพื่อรับส่วนลดค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในราคานักเรียนได้

สุดท้ายเมื่อเรียนจบการศึกษาหรือลาออกกลางครัน วีซ่านักเรียนจะถือว่าสิ้นสุดค่ะ แต่ถ้าหากสามารถหางานทำที่ญี่ปุ่นได้ เราก็สามารถเปลี่ยนประเภทวีซ่า จากวีซ่านักเรียน ไปเป็นวีซ่าทำงาน เพื่อทำงานและใช้ชีวิตคนทำงานในญี่ปุ่นได้ต่อไปค่ะ

พบปะ “เจ๊เอ๊ด” และ #ทีมเจ๊เอ๊ด ได้ที่ >>> www.facebook.com/jeducationfan
ข้อมูลเรียนต่อญี่ปุ่น-เรียนภาษาญี่ปุ่น >>> www.jeducation.com