![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนารท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธใน www.marumura.com

พี่ชายเสียชีวิตไปแล้ว เหลือโทมิโกะกับพี่สาวทั้งสองทั้งหมดพากันหลบหนีต่อไป แต่แล้วเด็กน้อยวัย 7 ขวบก็พลัดหลงกับพี่สาวทั้งสอง….
“เมื่อสงบจิตสงบใจได้อีกครั้ง ฉันก็ค่อยๆ ไต่หน้าผาเวียนกลับมาลงอีกด้านซึ่งเป็นด้านที่มีทหารอยู่ ทั้งหมดมีกัน 4 คน และพวกเขา… ตายแล้ว… แต่ใบหน้าของทหารเล่านั้นดูสงบนิ่งราวกับกำลังหลับอยู่เท่านั้น มีเป้หลังใบหนึ่งวางอยู่ใกล้ๆ ฉันล้วงเข้าไปโดยอัตโนมัติ แต่ปรากฏว่ามีลูกอมอยู่ในนั้น 4 – 5 เม็ดเท่านั้น ฉันหยิบใส่ปากไป 2 – 3 เม็ด และขณะเคี้ยวก็มองเข้าไปในถ้ำซึ่งปากประตูถูกปิดอยู่ครึ่งหนึ่ง ที่ใกล้ๆ ปากทางฉันเห็นเด็กผู้หญิงอายุพอๆ กับฉันนั่งอยู่บนตักผู้หญิงคนหนึ่ง เด็กคนนั้นมองเห็นว่า ฉันกำลังกินและจ้องมาที่ปากฉัน พอฉันเคี้ยวแกก็ทำท่าเคี้ยวบ้างไปพร้อมๆ กัน
“อ้าว…อยากกินมั่งใช่ไหม?” ฉันคลานเข้าไปแล้วยื่นลูกอมเม็ดสุดท้ายให้ จากนั้นฉันเพ่งมองไปตามซอกมืดๆ ในส่วนลึกของถ้ำแล้วก็ลองเรียก “พี่นีนี่…พี่นีนี่…!” แต่ไม่มีเสียงตอบกลับมา ที่นี่ไม่มี ต้องไปหาที่อื่นแล้วล่ะ แต่แล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่า ถ้าหากฉันยังอยู่พี่ๆ อาจจะมาที่นี่ก็ได้ นอกจากนั้นฉันก็เหนื่อยด้วย ตกลงฉันอยู่ที่นี่ดีกว่า แต่ทันใดนั้นก็มีเสียงใครคนหนึ่งพูดขึ้นมาจากด้านใน
“เด็กน้อย…ถ้าจะหนีก็ต้องไปเสียเดี๋ยวนี้เลย เพราะเรากำลังจะปิดปากถ้ำแล้วใช้ระเบิดฆ่าตัวตายกัน แต่ถ้าหนูอยากตายพร้อมกับเราก็อยู่ได้นะ…”
“ในระหว่างสงครามนั้น ตามถ้ำต่างๆ ทั่วโอกินาวามีแม่ซึ่งพาลูกอพยพหนีและเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียหมดหวังเสียจนกระทั่งปลิดชีวิตตนเอง ฉันยังคงจดจำได้ถึงภาพรอยยิ้มอ่อนระโหยบนใบหน้าของเด็กผู้หญิงคนนั้น ตอนที่ฉันแบ่งลูกอมให้”
ซมซานต่อไปจนกระทั่งได้พบสายน้ำ แต่มีคนจำนวนมากกำลังนอนคว่ำหน้ากินน้ำอยู่ริมตลิ่ง เธอคอยเวลาจะเข้าต่อคิว…
“แต่ฉันคอยต่อไปไม่ไหวแล้ว และฉันตัดสินใจจะเข้าไปที่แม่น้ำบ้าง ตอนนั้นเองที่คนหนึ่งซึ่งนอนคว่ำหน้าอยู่นั้นยกหัวขึ้นและมองมาที่ฉัน เป็นคุณยายแก่ๆที่ผมบนศีรษะพันกันยุ่งเหยิง พอเห็นหน้าแกฉันหลุดเสียงกรีดร้องออกมาอย่างไม่ตั้งใจพลางกระโดดถอยหลังไป 2 – 3 ก้าว ยายคนนั้นมีเลือดไหลโกรกออกจากตาข้างหนึ่ง ตามตัวของยายเป็นสีแดงไปด้วยเลือดตั้งแต่แก้มไปจนถึงหน้าอก แกไม่ได้ยื่นมือมาทางฉันหรือว่าส่งเสียงเรียกอะไร แต่ฟุบหน้ากลับลงไปจนน้ำกระจายและไม่เคลื่อนไหวอีกเลย นั่นเลยทำให้ฉันรู้ว่าคนทั้งหมดที่แช่หน้าอยู่ในน้ำนั้นตายแล้ว…”
ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ทุกคนควรอ่านจากบันทึกเล่มนี้ โดยเฉพาะใครที่กำลังพยายามจุดไฟสงคราม-จะได้ใคร่ครวญให้รอบคอบ
วันเวลาแห่งนรกบนดินบนเกาะโอกินาวาผ่านไปเกือบ 4 เดือน ถึงตอนนี้เป็นที่ปราศจากข้อสงสัยของทั้งสองฝ่ายแล้วว่า ฉากแห่งนาฏกรรมทำลายล้างกำลังจะคลี่ปิดลงด้วยน้ำมือนาวิกโยธินอเมริกัน
วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน 2487 พลเอกไซมอน บัคเนอร์ แม่ทัพสหรัฐ ส่งสารถึงพลเอกอูชิจิม่าที่ยังคงปักหลักบัญชาการรบอยู่ในถ้ำกองบัญชาการใหญ่ ใจความสำคัญก่อนข้อเสนอให้ยอมแพ้มีว่า…
“ทหารภายใต้การบัญชาการของท่านต่อสู้ได้อย่างยอดเยี่ยมและกล้าหาญเป็นอย่างยิ่ง ยุทธวิธีทหารราบในสนามรบโอกินาวาของท่านสมควรได้รับความนับถือจากข้าศึก ท่านเป็นนายพลเหล่าทหารราบเช่นเดียวกับข้าพเจ้า ได้เล่าเรียนและมีประสบการณ์ในการสงครามแบบทหารราบ ท่านคงทราบดีถึงชะตากรรมอันสิ้นหวังของกองกำลังป้องกันของท่าน ท่านทราบดีว่าไม่มีกำลังกองหนุนใดๆ จะเข้ามาถึงได้ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเชื่อว่าท่านเองก็คงมองเห็นอย่างเช่นเดียวกับข้าพเจ้าว่าเวลาของความพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงของกองกำลังญี่ปุ่นที่ต่อต้านอยู่บนเกาะนี้นั้น เหลืออีกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น และสิ่งนี้จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าข้าพเจ้าจำเป็นต้องทำลายกองกำลังส่วนใหญ่ที่ยังเหลืออยู่ของท่านหรือไม่”
ข้อเสนอให้ยอมแพ้ของพลเอกบัคเนอร์นั้น ตามธรรมเนียมญี่ปุ่นแล้วต้องถือเป็นการปรามาสกัน แต่ปฏิกิริยาเพียงอย่างเดียวของพลเอกอูชิจิม่าคือรอยยิ้มกว้างขณะกล่าวว่า “ข้าศึกทำให้ฉันกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญการสงครามแบบทหารราบไปเสียแล้ว”
ถึงตอนนี้ หลายท่านคงสงสัยว่า ทหารญี่ปุ่นบนเกาะโอกินาวาจะยอมสู้จนตัวตายเหมือนพลโทซูราบาชิและเหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาแห่งอิโวจิมาหรือไม่ กระทั่งอาจใคร่รู้ว่า การยอมพลีชีพของทหารญี่ปุ่นนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไรกันแน่ ?
โปรดติดตาม…
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ใน www.marumura.com