ในบรรดาตำนานเรื่องเล่าที่กล่าวถึงแบบอย่างของคุณธรรมของญี่ปุ่นนั้น หากเป็นเรื่องของคุณธรรมในด้านความจงรักภักดี และความหยิ่งในเกียรติและศักดิ์ศรีของวิถีนักรบหรือที่เรียกว่า “บูชิโด” นั้น คงต้องไม่พ้นการกล่าวอ้างถึงเรื่อง 47 โรนินนี้เป็นแน่
ได้เวลาที่จะขยับนิ้วเคาะคีย์บอร์ด มาเล่าเรื่องราวในอดีตของประเทศญี่ปุ่นกันอีกครั้งแล้ว (หลังจากที่ได้เล่าเรื่องของเรียวมะไปเมื่อครั้งกระนู้น) ในคราวนี้ก็อยากจะขอเล่าเรื่องที่เป็น Symbolic ของทีมงานผู้สร้างทำเวบไซต์นี้เสียหน่อย หากท่านที่ทราบแล้วก็คงร้องอ๋อ แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้ก็จะแถลงไขให้ทราบว่าทีมงานทำเวบคณะนี้ ได้เรียกตัวเองว่าคณะ “47 Ronin” แล้ว 47 โรนินนี้คือใครกัน หรือที่ยิ่งกว่านั้นผมเชื่อว่ายังคงมีบางคนสงสัยว่าที่จริงแล้วคำว่า “โรนิน” คืออะไร อย่ากระนั้นเลย อย่าปล่อยให้ความสงสัยมากัดกินความสว่างรู้ ผมก็จะใช้พื้นที่ตรงนี้เล่าเรื่องของ 47 โรนิน ให้พวกเราได้อ่านกันเลยก็แล้วกัน
โรนิน (浪人) คำนี้มีรากศัพท์มาจากอักษรคันจิ 2 ตัว ตัวหนึ่งหมายถึง คลื่น (浪) และอีกตัวหนึ่งหมายถึงคน (人) ซึ่งถ้าแปลแบบกำปั้นทุบดินแล้วก็น่าจะถอดความหมายว่า “คนคลื่น” หรือว่า “คนซัดเซพเนจร”แต่ในปัจจุบัน คำนี้หมายถึง นักเรียนที่กำลังรอสอบเข้ามหาวิทยาลัยรอบใหม่ หลังจากที่พลาดการสอบไปแล้วครั้งหนึ่ง หรือจะหมายถึงพวกหลักลอยยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันก็ได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คำนี้ก็มีวิวัฒนาการมาไม่ใช่น้อย และความหมายของคำนี้ในแต่ละยุคสมัยได้บ่งชี้ไปยังกลุ่มคนที่แตกต่างกัน อย่างในยุคคามาคุระ คำว่า โรนิน นี้จะหมายถึงบุคคลที่ไม่มีอยู่ในสำมะโนประชากรซึ่งก็เป็นไปได้สูงว่าในยุคนั้นๆ การทำฐานข้อมูลประชากรก็น่าจะยังไม่เรียบร้อยรัดกุมนัก จึงเป็นไปได้ว่าจะมีการสำรวจตกหล่น ทำให้คนเหล่านี้กลายเป็น “คนไร้ราก” ไปในที่สุด
แต่พอมาในยุคมุโรมาจิ คำว่า โรนิน นี้ ก็แสดงถึงกลุ่มคนที่แตกต่างออกไปอีก ในยุคนี้ คำนี้จะหมายถึง บุคคลที่ต้องพลัดพรากไปจากภูมิลำเนา เช่น พวกพ่อค้าเร่ ม้าเร็วเดินสาร ฯลฯ หรือเราจะเรียกว่าพวก “คนจรหมอนหมิ่น” นั้นก็จะได้

แล้วเมื่อเข้ามาในช่วงยุคสมัยเอโดะ คำว่า โรนิน นี้ก็จะหมายถึงกลุ่มคนที่เป็นซามุไรของบรรดาไดเมียวไร้บรรดาศักดิ์และต้องโทษ อันเป็นผลพวงมาจากการแพ้สงครามเมื่อครั้ง ศึกเซกิกาฮาระ
จนล่วงเข้าถึงยุคเอโดะตอนกลาง คำว่าโรนินนี้ ก็ไม่ได้หมายถึงแค่กลุ่มซามุไรในแว่นแคว้นที่พ่ายแพ้อย่างเดียวแล้ว หากแต่ได้รวมถึงซามุไรที่เจ้านายขับไล่ให้พ้นจากหน้าที่ หรือไม่ได้จ่ายเบี้ยหวัดให้ แล้วด้วยข้อจำกัดของระเบียบสังคมที่ว่าด้วยเรื่องศักดิ์ศรีและระบอบชนชั้นวรรณะ ทำให้ซามุไรเหล่านี้ ไม่สามารถเปลี่ยนนาย หรือเปลี่ยนอาชีพได้ ซึ่งหมายถึงว่าคนเหล่านี้ต้องตกจมอยู่ในอนาคตอันมืดมน และมีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น
เหล่านี้ก็เป็นที่มาโดยสังเขปของคำว่าโรนิน ก็คิดว่าผู้อ่านคงพอจะเข้าใจเพิ่มขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ
ต่อไปก็จะได้เล่าถึงเรื่องราวของ 47 โรนิน กันล่ะนะ
ในบรรดาตำนานเรื่องเล่าที่กล่าวถึงแบบอย่างของคุณธรรมของญี่ปุ่นนั้น หากเป็นเรื่องของคุณธรรมในด้านความจงรักภักดี และความหยิ่งในเกียรติและศักดิ์ศรีของวิถีนักรบหรือที่เรียกว่า “บูชิโด” นั้น คงต้องไม่พ้นการกล่าวอ้างถึงเรื่อง 47 โรนินนี้เป็นแน่ ถึงขนาดที่เมื่อเรื่องนี้ได้แปลงเป็นบทละครก็ยังได้ชื่อว่า “ข้าผู้ภักดี”หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า จูชิงงุระ (忠臣蔵) แล้วละครเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ซาบซึ้งตรึงใจชาวญี่ปุ่นมาตลอดทุกยุคทุกสมัย
อันที่จริงแล้ว เรื่อง “ข้าผู้ภักดี” นี้ถูกนำมาเผยแพร่ในรูปแบบของบทละครหุ่นมาตั้งแต่เมื่อปีค.ศ. 1748 ก่อน แล้วจึงถูกนำมาแปลงเป็นบทละครคาบุกิในปีค.ศ. 1749 โดยนำเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อราว 40 ปีก่อนหน้านั้น มาเล่าในรูปแบบของบทละครอิงประวัติศาสตร์
เป็นเรื่องราวที่กล่าวถึงกลุ่มซามุไรจากมณฑลอะโค (赤穂藩) เกิดขึ้นในสมัยของโชกุนรุ่นที่ 5 ในยุคเอโดะโตกุกาวะ ซึนาโยชิ (江戸幕府五代目将軍 徳川綱吉) ในสมัยนั้นทุกๆเทศกาลปีใหม่ จะมีพระราชทานโองการคำอวยพรปีใหม่จากราชสำนักมายังรัฐบาล และก็เป็นธรรมเนียมที่ฝ่ายรัฐบาลจะต้องจัดเจ้าหน้าที่ไว้เพื่อการถวายพระพรปีใหม่แด่องค์พระจักรพรรดิเป็นการสนองพระราชโองการ ซึ่งก็ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีงานหนึ่งที่มีความสำคัญมาก และเป็นงานที่ใช้เวลากันเป็นแรมเดือน โดยจะให้เหล่าขุนนางน้อยใหญ่จากแว่นแคว้นต่างๆในอาณัติ มาทำหน้าที่ดูแลเหล่ามหาดเล็กและนางสนองพระโอษฐ์ในพระราชวังในหน้าที่ต่างๆ กัน

แล้วในปีเกนรกกุที่ 14 (元禄14年) อาซาโน นากาโนริ (浅野長矩) เจ้ามณฑลอะโค แห่งแคว้นฮาริมะ (播磨国) ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานคอยให้ความช่วยเหลือ คิระ โยชิฮิสะ (吉良義央) เจ้าหน้าที่ระดับสูงในสังกัดกรมมหาดเล็ก อันที่จริงงานนี้ นากาโนริ ก็เคยได้รับมอบหมายให้ทำมาก่อนแล้วครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน แล้วสำหรับในการปฏิบัติภาระกิจในหนนี้ก็เช่นกัน นากาโนริ สามารถปฏิบัติตามหมายกำหนดการได้สำเร็จลุล่วงก็จริง หากแต่ก็เป็นไปอย่างเร่งรัดและกดดัน เพราะมักมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดซึ่งทุกพระราชพิธีต้องไม่มีการผิดพลาด และหากมีความผิดพลาดก็ย่อมหมายถึงต้องรับผิดชอบด้วยชีวิต
จนกระทั่งในเดือน 3 วันที่ 14 นากาโนริได้รับคำสั่งให้เข้าปราสาทเอโดะ เพื่อรับแผนกำหนดงานฉลองสนองพระราชโองการ ในเช้าวันนั้น นากาโนริ ได้เดินทางเข้าปราสาทก่อนกำหนดเล็กน้อย แต่ทว่าเหล่าบรรดามหาดเล็กและเจ้าพนักงานคนอื่นๆต่างก็ได้มาถึงปราสาทก่อน ครั้งแรก นากาโนริ ตั้งใจว่าจะไปหย่อนอิริยาบทที่ห้องพักเจ้าพนักงานเพื่อรอให้ถึงกำหนดก่อน หากแต่เมื่อเข้าไปที่นั้นแล้วก็ดูเหมือนว่าเขาจะเปลี่ยนใจ นากาโนริได้เดินออกมาที่ฉนวนทางเดินอีกครั้ง คราวนี้ นากาโนริ เต็มไปด้วยท่าทีที่เร่งรีบ และก็เหมือนจะมองหาอะไรหรือใครสักคน แล้วพอถึงที่ฉนวนระเบียงมัตสึ นากาโนริก็ได้พบกับ โยชิฮิสะ ที่ดูคล้ายว่ากำลังปรึกษาอะไรกับ คายิคาวา โยริเทรุ หัวหน้าพ่อบ้านประจำปราสาท และในตอนนั้นเอง
ตามบันทึกจดหมายเหตุคำให้การของ คายิคาวา ระบุว่า หลังจากที่ โยชิฮิสะได้ประชุมกับเหล่าที่ปรึกษาโชกุนแล้ว โยชิฮิสะ ก็ได้ออกมานัดแนะเรื่องกำหนดการของวันนั้นกับเขาที่ฉนวนระเบียง แล้วในขณะที่กำลังสนทนากันอยู่นั้น นากาโนริก็สืบเท้าเข้าที่ด้านหลังของ โยชิฮิสะ แล้วใช้มีดสั้นฟันเข้าที่ด้านหลังของ โยชิฮิสะ พลางตะโกนว่า “แกจำความแค้นตอนนั้นได้ไหม” แล้วก็ฟาดซ้ำลงไปอีกเป็นครั้งที่ 2

พอเมื่อ คายิคาวา ได้สติ จึงได้เข้าคว้ามือของ นากาโนริ ไว้ แล้วก็ล็อคตัวกด นากาโนริ ลงกับพื้น ด้วยเสียงอึกทึกทำให้มีคนมาช่วยนำ โยชิฮิสะ แยกออกไปจากที่เกิดเหตุ นี่หากว่าเป็นธรรมดาที่นอกปราสาท ด้วยแรงฟันของ นากาโนริ ขนาดนี้ร่างของ โยชิฮิสะ คงขาดสะพายแล่งไปแล้ว แต่ด้วยที่การเข้าปราสาทไม่อนุญาตให้พกพาดาบยาวเข้าปราสาทได้ นากาโนริ จึงมีเพียงดาบสั้นที่พกอยู่ข้างกายเท่านั้น และนั้นทำให้การฟันของ นากาโนริ 2 คมดาบนี้ ไม่ทำให้ โยชิฮิสะ ต้องถึงกับความตาย
ความชุลมุนนั้นเกิดขึ้นอยู่พักหนึ่ง แล้วในที่สุดก็มีใครคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า “ตอนนี้เหตุการณ์ก็อยู่ในความควบคุมแล้ว พวกเรายังมีกำหนดพิธีการกับท่านโชกุนอีก หากไม่แยกย้ายกันไปทำ เห็นท่าจะถูกทำโทษกันทั้งหมดนี่”แล้วต่างฝ่ายก็ต่างแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ของตน ทหารรักษาความสงบประจำปราสาทได้พาตัวนากาโนริไปอีกห้องหนึ่ง
ในตอนหน้า จะเป็นช่วงการสืบสวนเหตุจูงใจการลงมือของ นากาโนริ