![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนต์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย
เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนาท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธใน www.marumura.com

จอห์น แบรดลีย์ 1 ใน 6 นาวิกโยธินอเมริกันที่ปรากฏในภาพถ่ายปักธงเหนือยอดเขาซูริบาชิเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2488 เก็บงำประสบการณ์ครั้งสงครามแปซิฟิกไว้อย่างมิดชิดกับตนเอง ไม่บอกเล่าแม้ภรรยาและลูกๆ มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเมื่อถูกรบเร้าจากลูกชาย เขาก็กล่าวเพียงว่า
“ฮีโร่ที่แท้จริงของยุทธภูมิอิโวจิมา คือคนที่ไม่ได้กลับบ้าน…”
คำกล่าวสั้นๆนี้จะเข้าใจได้จำเป็นต้องย้อนรอยสำรวจเรื่องราว…

ก่อนที่ทหารจะยอมรับและเห็นความจำเป็นในการ “โฆษณาประชาสัมพันธ์” ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งใน“สังคมการตลาด” เช่นทุกวันนี้นั้นก็ใช้เวลาไม่น้อย เพราะทหารทั่วทั้งโลกส่วนใหญ่ล้วนมีจิตสำนึกร่วมกันอยู่ประการหนึ่งซึ่งอาจอธิบายได้ด้วยวรรคทองในบทเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” ตอนหนึ่งที่ว่า “จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา”
ครั้งเมื่อโจ โรเซนธัล ขอให้เหล่านาวิกโยธินมายืนรวมกันใต้ธงชาติสหรัฐเหนือยอดเขาซูริบาชินั้น หลายคนปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า “พวกเราไม่ใช่ทหารฮอลลีวูด” คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของความรู้สึกชนิดนี้
ในสงครามโลกครั้งที่สอง ทางการสหรัฐให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับงานโฆษณาประชาสัมพันธ์ นักประชาสัมพันธ์มืออาชีพในวงการธุรกิจทั้งถูกเรียกเกณฑ์ทั้งถูกเชิญชวนและทั้งอาสาสมัครเข้าช่วยเหลือ ในขั้นแรกเพื่อสร้างความรู้สึกชาตินิยมให้คนอเมริกันสนับสนุนสงครามเพื่อปกป้องเกียรติยศของชาติจากการที่เพิร์ลฮาเบอร์ถูกญี่ปุ่นโจมตี เพราะก่อนหน้านี้ คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนให้ประเทศของตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของประเทศอื่นๆแม้ขณะนั้นฮิตเลอร์กำลังจะยึดยุโรปได้ทั้งทวีปแล้วก็ตาม

งานโฆษณาประชาสัมพันธ์ครั้งนั้นประสบความสำเร็จจนนำไปสู่มติมหาชนท่วมท้นสนับสนุนให้สหรัฐเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองอย่างเต็มตัวในที่สุด
ทว่า “สงครามยิ่งยืดเยื้อ ข้าวในยุ้งฉางยิ่งลดน้อย ศัตราวุธยิ่งลดความแหลมคม” สงครามเต็มตัวของสหรัฐตั้งแต่ธันวาคม 2484 มาจนถึงกลางปี 2488 แม้ฝ่ายสัมพันธมิตรจะกลายเป็นฝ่ายได้เปรียบในทุกแนวรบทั้งยุโรปและแปซิฟิก แต่เรื่องที่ตามมาคือทรัพยากรของชาติที่ร่อยหรอลงไปตามลำดับ ประมาณการงบประมาณเพื่อใช้ในการทำสงครามในปี 2488 อยู่ที่ 88,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่งบประมาณประจำปีที่กำหนดไว้ที่ 99,000 ล้าน และรัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีได้เพียง 46,000 ล้านเท่านั้น
รัฐบาลสหรัฐจึงจำเป็นต้องหางบประมาณมาปิดหีบให้ได้ในทุกวิถีทาง และจังหวะเดียวกับที่กำลังออกพันธบัตรสงคราม – WAR BOND พร้อมด้วยการรณรงค์อย่างกว้างขวางทั่วประเทศโดยจัดทัวร์มาแล้ว 6 ครั้ง กำลังจะปล่อยทัวร์ครั้งที่ 7 ก็ประจวบเหมาะกับที่ภาพถ่ายนาวิกโยธินปักธงชัยเหนือซูริบาชิกำลังมีอิทธิพลสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนอเมริกันทั้งประเทศ เข้าทางนักโฆษณามืออาชีพทันที พวกเขาเสนอต่อรัฐบาลว่า การรณรงค์ครั้งที่ 7 จะได้ผลอย่างยิ่งหากมี “วีรบุรุษจากอิโวจิมา” ทั้ง 6 นายบนภาพถ่ายปักธงชัยนี้มาร่วมทัวร์ด้วย

“ส่งทหาร 6 นายที่ปรากฏในภาพการชักธงของโรเซ็นธอลกลับมาอเมริกาโดยทางเครื่องบินทันทีที่ได้รับคำสั่งนี้”
ผู้ลงนามในคำสั่งที่ส่งไปทางวิทยุถึงกองบัญชาการนาวิกโยธินภาคพื้นแปซิฟิกเมื่อ 30 มีนาคม 2488 คือประธานาธิบดีโรสเวลต์!
เด็กหนุ่มนาวิกโยธินสหรัฐทั้ง 6 คนมีนามดังนี้…
จอห์น แบรดลีย์ คนที่เห็นหน้าได้ชัดที่สุดในภาพ และมีชีวิตรอดจากสงครามครั้งนี้จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้บุตรชายของเขา เจมส์ แบรดลีย์ ติดตามค้นหาความจริงกระทั่งออกมาเป็นหนังสือ FLAGS OF OUR FATHERS
เรนี แก็กนอน กรรมกรหนุ่มรูปหล่อจากนิวแฮมเชอร์ อยู่ทางด้านซ้ายของจอห์น แบรดลีย์และถูกบังจนเกือบมิด ฮาร์ลอน บล็อก อยู่ด้านขวาสุดของภาพที่หันหลังโน้มตัวลงกดปักด้ามธงกับพื้นหินจนไหล่และเข่าเกือบจรดพื้น แฟรงคลิน เซาสลีย์ เป็นคนถัดมา และที่เห็นเพียงมือขวายื่นออกมาพยุงมือของแฟรงคลินให้ดันเสาธงได้อย่างมั่นคงนั้นคือ สิบเอก ไมค์ สแตรงค์
และคนสุดท้ายที่ถูกทำร้ายอย่างไม่ตั้งใจจากสังคมอเมริกันเมื่อเขาไม่อาจยอมรับคำว่า “วีรบุรุษ”ที่สังคมอเมริกันมอบให้คือ ไอรา เฮยส์ อเมริกันเชื้อสายอินเดียนเผ่าพีมาจากอริโซน่า
ตอนที่คำสั่งจากประธานาธิบดีรูสเวลต์ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาถึง นาวิกโยธินผู้ปรากฏบนภาพถ่ายทั้ง 6 นั้น ยังคงหลงเหลือผู้รอดชีวิตเพียง 3 นายเท่านั้นคือ จอห์น แบรดลีย์, เรนี แก็กนอน และ ไอรา เฮยส์ – อีก 3 นายเสียชีวิตในสมรภูมิอิโวจิมาหมดแล้ว

เรนี แก็กนอน รับทราบข่าวนี้ด้วยความยินดีและรีบนำความไปบอกเพื่อนรัก ไอเรา เฮยส์ แต่ปฏิกิริยาทันทีทันใดคือความโกรธเกรี้ยวพร้อมคำสั่งกำชับเด็ดขาดว่า หากเปิดเผยว่ามีเขาในภาพนั้น เรนีจะต้องเดือดร้อน
เจมส์ แบรดลีย์ เจ้าของหนังสือ FLAGS OF OUR FATHERS อธิบายความรู้สึกของไอรา เฮยส์ และ ฉัตรนคร องคสิงห์ แปลไว้ว่า…
“การที่ไอราปกปิดความจริงว่าตนคือหนึ่งในผู้ปักธง เท่ากับเขากำลังขัดคำส่งท่านประธานาธิบดีในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งถือเป็นการผิดวินัยอย่างร้ายกาจสำหรับนาวิกโยธิน แต่ก็จะทำอย่างไรเล่า! นี่คนพวกนี้เขาคิดอะไรกันอยู่เหรอ? เขาไม่เข้าใจกันมั่งรึงไง ว่าไอ้สิ่งที่ผมกับพรรคพวกต้องเผชิญในสนามรบ กับสิ่งที่ ผบ.สูงสุดขอให้ทำเนี่ย…มันต่างกันราวฟ้าดินขนาดไหน !

จะให้ผมเนี่ยนะ…เดินทางไปทั่วประเทศ ปั้นหน้าชื่นรับคำยกยอ หลังจากเดือนเดียวที่เพิ่งได้เห็นภาพเพื่อนๆ ล้มลงชัดดิ้นขาดใจตายคากระสุน ส่วนตัวผมเองก็รอดมาได้ชนิดหวุดหวิด
นี่มันไม่ใช่แบบเดียวกับที่เผ่าของผมนิยมหรือสั่งสอนกันมาเลยแหละ !”
นึกถึงคัตเอาต์ใหญ่โตโฆษณาผลงานของหน่วยราชการโดยมีใบหน้าของนักการเมืองปรากฏอยู่เด่นชัดที่เห็นได้บ่อยในระยะนี้ และจะเห็นได้มากยิ่งขึ้นเมื่อใกล้ฤดูเลือกตั้ง
ช่างขัดแย้งกับความรู้สึกของ ไอรา เฮยส์ อย่างหน้ามือเป็นหลังมือเสียนี่กระไร.
