![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนต์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนาท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธใน www.marumura.com
ญี่ปุ่นบุกไทยเมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ จัดว่าเป็นเรื่องใหญ่ระดับความเป็นความตายของชาติไทยในครั้งนั้น ซึ่งถึงวันนี้ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนจำนวนไม่น้อย แต่นับวันก็จะค่อยๆ จางหายไปตามกาลเวลา
ผมขออาสานำท่านย้อนเข็มนาฬิกากลับไปสู่เหตุการณ์ครั้งนั้น โดยเฉพาะเรื่องราวประเภทที่ไม่ค่อยมีใครรับรู้ หรือถึงรู้ก็อยู่ในแวดวงจำกัด หรือบางเรื่องอาจไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็สะท้อนสภาพความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นนั้นอย่างชัดเจนทีเดียว…โดยเฉพาะเลือดรักชาติ
เรื่องทหารญี่ปุ่นตบหน้าสามเณรไทยที่บ้านโป่ง จนกระทั่งบานปลายไปอย่างนึกไม่ถึง ทหารญี่ปุ่นมีเจ็บมีตาย…

จุดยุทธศาสตร์ที่บ้านโป่ง
หลังจากเข้ายึดครองประเทศไทยเมื่อเช้ามืด ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ แล้ว ด้านหนึ่ง กองทัพญี่ปุ่นก็ขยายผลมุ่งสู่พม่าเพื่อรุกต่อไปยังอินเดียขุมกำลังใหญ่ของฝ่ายอังกฤษด้วยการทุ่มเทสร้างทางรถไฟเพื่อขนย้ายทั้งกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จะรู้จักกันดีในเวลาต่อมาว่า “ทางรถไฟสายมรณะ”
บ้านโป่งแห่งราชบุรีนับเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในฐานะฐานส่งกำลังบำรุงการสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า เป็นที่ตั้งของกองพลทหารรถไฟที่ ๙ ของญี่ปุ่น ที่ซึ่งหนึ่งปีเศษหลังการยึดครองได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นเรื่องหนึ่งที่นี่ ส่งผลอย่างสำคัญต่ออารมณ์ความรู้สึกและเลือดรักชาติของคนไทย ความสัมพันธ์ที่เปราะบางอยู่แล้วระหว่างไทย-ญี่ปุ่นยิ่งทรุดหนักลงไปอีก
เหตุการณ์ที่หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อน เหตุการณ์ที่แม้ได้รับทราบตอนนี้หลังผ่านไปแล้วกว่า ๖๐ ปีก็ยังอดไม่ได้ที่จะมีอารมณ์แค้นเคือง
เรื่องเกิดขึ้นที่วัดดอนตูม อำเภอบ้านโป่ง เมื่อตอน ๕ โมงเย็น ๑๘ ธันวาคม ๒๔๘๕

สาเหตุจากบุหรี่มวนเดียว
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อสามเณรเพิ่ม สิริพิบูล วัย ๓๗ ปี ซึ่งกำลังเดินทางไปนมัสการเจ้าอาวาสวัดดอนตูมได้พบกับเชลยศึกผิวขาวระหว่างทาง เชลยศึกได้ขอบุหรี่จากสามเณรเพิ่ม และโดยไม่ได้คิดอะไร สามเณรเพิ่มก็ส่งบุหรี่ให้เชลยศึกฝรั่งคนนั้นด้วยความสงสารคอบุหรี่ด้วยกัน
ทหารญี่ปุ่นซึ่งไม่ทราบว่าโกรธเพราะเสียดายบุหรี่มวนนั้นเพราะตัวเองก็กำลังอยากอยู่เหมือนกัน หรือจะเข้มงวดระเบียบกฎเกณฑ์อย่างไรก็ไม่ทราบได้ เห็นดังนั้นก็เกิดความโกรธแล้วตบหน้าสามเณรเพิ่มไป ๓ ทีซ้อน แบบป๊อกเด้ง จนกระทั่งสามเณรเพิ่มล้มคว่ำคาจีวรลงกับพื้น
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต่อหน้าชาวบ้านแถวนั้น ชาวบ้านจึงช่วยกันพยุงท่านขึ้นแล้วพาตัวไปยังร้านค้าแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆกับวัดดอนตูม เอายาดมมาให้ดมพร้อมบีบนวดให้เลือดลมเดินจนรู้สึกตัว จากนั้นท่านก็เข้าไปในวัดปรากฏว่าทั้งเจ้าอาวาสและรองไม่อยู่ สามเณรเพิ่มจึงเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ให้กรรมกรไทยที่รับจ้างสร้างทางรถไฟสายนี้ซึ่งพักอยู่ที่ศาลาวัดฟัง
กรรมกรไทยได้ยินดังนั้น เลือดรักชาติก็เดือดพล่านจึงรวมตัวกันได้ประมาณ ๒๐ คนพร้อมด้วยสามเณรเพิ่มพากันก่อม็อบย่อยๆ ไปพบล่ามญี่ปุ่นชื่อนายคุเรแล้วเล่าให้ฟังว่า ทหารญี่ปุ่นตีพระไทย นายคุเรก็รับปากว่าจะติดต่อแจ้งให้ผู้ใหญ่ฝ่ายญี่ปุ่นทราบในวันรุ่งขึ้น และขอร้องให้คนไทยทั้ง ๒๐ กว่าคนนั้น ใจเย็นกลับไปก่อน คนไทยเห็นท่าทีเอาใจใส่ของล่ามเช่นนี้ก็ใจเย็นลงแล้วพากันกลับไปที่พักพร้อมสามเณรเพิ่มผู้เสียหาย
แต่เรื่องราวกลับไม่จบลงโดยง่าย…

ญี่ปุ่นไม่ยอมจบ
ไม่ทราบว่าของขึ้นหรืออย่างไร หรือเที่ยวไปบอกกันว่า ไฮ้ … ตบพระไทยนี่มันมือจริงๆ … ข้าล่อไป ๓ ฉาดยังติดใจอยู่ พวกเราไปตบมันอีกไหม ปรากฏว่าพอตกเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม ทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งก็ถือไม้หน้า ๓ ขึ้นไปบนศาลาวัดดอนตูม เล่นเอากรรมกรไทยที่เพิ่งกลับมาจากการร้องเรียนตกใจกันยกใหญ่ แต่ก็ไม่มีใครหาเรื่องตอบโต้ทหารญี่ปุ่นของขึ้นคนนี้
แต่เรื่องกลับไม่จบลงแค่นั้น เมื่อเห็นว่า คนไทยไม่ตอแยด้วย ทหารญี่ปุ่นคนนั้นหายไปพักหนึ่งก็กลับมากับเพื่อนทหารญี่ปุ่นอีก ๒ คน คราวนี้นอกจากไม้หน้า ๓ แล้วยังมีปืนยาวแถมมาด้วย กรรมกรคนหนึ่งทนไม่ไหวเพราะหยามหน้ากันเกินไปจึงใช้อาวุธร้ายทันสมัยแบบอเนกประสงค์คือท่อนไม้ขนาดพองาม (อาจเป็นสากกระเบือ-บันทึกไม่ได้ระบุชัด ผมเดาเอาเอง) ปาเข้าใส่ทหารญี่ปุ่น แต่ไม่ถูกเนื่องจากไม่มีระบบนำวิถีที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ฝ่ายทหารญี่ปุ่นเห็นดังนั้น จึงร้องเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้วล่าถอยกลับไปด้วยหวาดเกรงอาวุธร้ายทันสมัยของกรรมกรไทย แต่อีกเพียง ๕ นาทีต่อมาก็กลับมากัน ๑๐ กว่าคน พอมาถึงศาลาวัดก็ยิงปืนเข้าใส่ คนไทยเห็นดังนั้นจึงต่างวิ่งหนีเอาชีวิตรอดพร้อมเสียงบ่นว่าอย่างนี้ไม่แฟร์นี่หว่า.. .ผิดหลักการใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักตามหลักการสากล ทหารญี่ปุ่นเห็นเป็นต่อและไม่มีการโต้ตอบด้วยอาวุธใดๆ ก็ยิ่งได้ใจจึงยิงปืนใส่และวิ่งกวดคนไทยไปรอบๆ บริเวณวัดนานนับชั่วโมง แต่ในที่สุดเมื่อตั้งสติได้และกำลังจะหมดแรงจึงนึกถึงวีรกรรมชาวบางระจันขึ้นมาได้ ฝ่ายไทยจึงหันกลับตั้งหลักแล้วพากันคว้าจอบเสียมที่พอหาได้เตรียมตัวเข้าประจัญบาน แบบเลือดทาแผ่นดิน
แต่เรื่องร้ายก็จบลงเมื่อร้อยตรี โยชิดะ นายทหารญี่ปุ่นพร้อมด้วยผู้บังคับกองตำรวจไทยและนายอำเภอบ้านโป่งเดินทางมาถึงและระงับเหตุลงได้ ท่ามกลางความฮึดฮัดของทหารญี่ปุ่นและคนไทยที่ถูกรังแก

เกียรติตำรวจของไทย
เรื่องไม่จบลงแค่นั้น เพราะพอเวลาประมาณใกล้สองยาม ฝ่ายญี่ปุ่นก็ส่งทหารมาเพิ่มเติมจากกาญจนบุรีประมาณ ๔ – ๕ คันรถ ตรงไปยังวัดดอนตูม ๒ คัน และเลยไปที่ริมน้ำ ๑ คัน ส่วน ๒ คันสุดท้ายซึ่งเป็นรถบรรทุกคันหนึ่งกับรถนั่งอีกคันหนึ่งก็วิ่งตามกันมาแล้วหยุดลงที่หน้าสถานีตำรวจบ้านโป่ง
ทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งถือปืนตรงไปยังสถานีตำรวจ อีกพวกหนึ่งขยายแถวยึดคันถนนตรงข้ามสถานีตำรวจ แล้วเริ่มยิงปืนเข้าใส่ทันที
เลือดตำรวจไทยใครจะยอมให้มาหยามกันถึงบ้าน ตำรวจบ้านโป่งก็ยิงสู้แบบถวายชีวิต การยิงต่อสู้กินเวลาช่วงสั้นๆ แค่ประมาณ ๒ – ๓ นาที ฝ่ายญี่ปุ่นก็หยุดยิงแล้วร้องบันไซข่มขู่แต่กลับพากันล่าถอยไป
เพราะปรากฏว่า นายทหารญี่ปุ่นตายไป ๑ และพลทหารตายไป ๔ …สมน้ำหน้ามัน

เมื่อสู้ตำรวจไทยไม่ได้ ทหารญี่ปุ่นจึงใช้วิธีกวาดต้อนจับกุมกรรมกรไทยทั้งชายและหญิงรวมทั้งเด็กซึ่งไม่มีทางสู้ไป ๓๑ คน (สู้มันยาก เพราะสากกระเบือถูกขว้างหมดคลังแสงไปแต่แรกแล้ว) นอกจากนั้น รอบๆ วัดยังมีซากศพคนไทยนอนตายเกลื่อนอยู่ ๗ – ๘ ศพ เท่านั้นยังไม่พอ ทหารญี่ปุ่นยังจับกุมพระไปทั้งวัดเพื่อสอบสวนจนถึงตี ๓ ของเช้าวันใหม่และได้ปล่อยตัวออกมาเมื่อตอน ๖ โมงเช้า เว้นสามเณรเพิ่มรูปเดียวที่ยังถูกกักขังอยู่ ส่วนกรรมกรไทยทั้งหมดนั้นถูกกักขังไว้จนถึงวันที่ ๒๔ ธันวาคมจนเสร็จสิ้นการสอบสวนแล้วจึงได้ปล่อยตัวไป ๒๐ คน แต่ก็ยังกั๊กกักตัวไว้อีก ๑๑ คน
ส่วนตัวสามเณรเพิ่มผู้เคราะห์ร้ายเพราะบุหรี่มวนเดียวเป็นเหตุนั้นถูกส่งตัวให้ฝ่ายไทยควบคุมเองตามคำขอ.
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ใน www.marumura.com