![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนต์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนาท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธใน www.marumura.com

บานปลาย
ช่วงเวลาปลายปี ๒๔๘๕ นั้น นอกจากการใช้เชลยศึกฝรั่งในการสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่าดังเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้ว ยังมีการว่าจ้างกรรมกรไทยให้ไปร่วมสร้างทางรถไฟสายนี้ด้วยเป็นจำนวนหลายหมื่นคน กรรมกรไทยจึงนับเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งต่อความสำเร็จ
เหตุการณ์ที่บ้านโป่งครั้งนี้ เป็นที่รับทราบกันอย่างรวดเร็วในหมู่กรรมกรไทยและคนไทยทั่วไป ดังนั้น ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม หลังเกิดเหตุเพียงไม่กี่วัน กรรมกรไทยบ้านโป่งที่ทำงานให้ญี่ปุ่นก็พากันหลบหนีไปประมาณ ๕๐๐ คน จนไม่เหลือกรรมกรไทยเลยแม้แต่คนเดียว ญี่ปุ่นจึงเริ่มหนักใจเพราะทางโตเกียวก็เร่งรัดให้สร้างทางรถไฟสายสำคัญนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ไฮ้…ช้าจะถูกคว้านท้องไม่รู้ด้วยนะโว้ย

ความบาดหมางอย่างรุนแรงครั้งนี้ทำให้เกิดข่าวลือกันในหมู่ทหารญี่ปุ่นว่า กองทัพไทยได้ชุมนุมกันที่นครปฐม เพื่อเตรียมตอบโต้ล้างแค้นแทนคนไทย ร้อยตรี อิริเอะ นายทหารติดต่อฝ่ายญี่ปุ่นจึงได้เข้าพบและกล่าวต่อ พันโท หม่อมเจ้า พิสิฐดิศพงศ์ ดิศกุล ผู้แทนฝ่ายทหารไทย ซึ่งมีบันทึกไว้ว่า
“ประเทศไทยต้องการรบกับประเทศญี่ปุ่นเช่นนั้นหรือ ถ้าหากประสงค์เช่นนั้น ญี่ปุ่นก็จะได้เตรียมรบ”
น่าสวนด้วยหมัดตรงจริงไหมครับ ?
พันโท หม่อมเจ้า พิสิฐดิศพงศ์ ดิศกุล พยายามใจเย็น นับหนึ่งถึงสิบ นึกถึงประเทศชาติแล้วตอบไปว่า
“ฝ่ายไทยไม่มีความประสงค์เช่นนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก มีกำลังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะไปสู้รบกับประเทศญี่ปุ่นอันเป็นเสมือนพี่ชายได้อย่างไร เพื่อให้บริสุทธิ์ใจอยากจะไปดูด้วยกันก็ไม่ขัดข้อง” เจอะลิ้นการทูตเข้าแบบนี้ญี่ปุ่นจอมโอหังก็พูดไม่ออก ในที่สุดก็ตกลงกันว่าจะส่งนายทหารญี่ปุ่นไปตรวจพื้นที่นครปฐม ซึ่งเมื่อไปตรวจก็หน้าแตก ยอมรับว่าไม่เป็นความจริง ไม่มีทหารไทยชุมนุมสักหน่อย
กลับมายังเหตุการณ์เจ็บตายจากเหตุการณ์ที่วัดดอนตูม ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๘๕ นั่นเอง ก็มีการประชุมร่วมไทย-ญี่ปุ่นขึ้น ฝ่ายญี่ปุ่นยืนยันนอนยันว่า ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายเริ่มยิงปืนก่อน ฝ่ายไทยแม้จะรู้ข้อเท็จจริงอยู่เต็มอก แต่ก็จำเป็นต้องอดกลั้นไม่งัดหลักฐานพยานมายันกันให้แตกหักไปข้างหนึ่ง และได้ส่ง พลโท จรูญ เสรีเริงฤทธิ์ เป็นหัวหน้าคณะไปขอขมาผู้บัญชาการกองพลก่อสร้างทางรถไฟญี่ปุ่นในวันที่ ๒๒ ธันวาคม (ด้วยความจำใจ)

บากายาโร่
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้คนไทยเกลียดชังญี่ปุ่นมากขึ้นทบเท่าทวีคูณ อังศุมาลินก็คงต่อว่าโกโบริไปไม่น้อย แต่คุณป้าทมยันตีไม่ได้เขียนไว้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บ้านโป่งและกาญจนบุรีซึ่งเป็นฐานก่อสร้างทางรถไฟ สถานการณ์ฝ่ายญี่ปุ่นเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ที่บ้านโป่งหาคนไทยไปเป็นกรรมกรสร้างทางรถไฟให้ญี่ปุ่นไม่ได้เลย นอกจากนั้นน็อตบังคับหัวรางรถไฟก็ถูกขโมยหายไปแบบจับมือใครดมไม่ได้ถึงประมาณ ๘๐๐ ดอก ยังความภาคภูมิใจแก่กลุ่มวีรชนนิรนามที่จะได้รับขนานนามในภายหลังว่า “พยัคฆ์ร้ายไทยถีบ” เป็นอย่างยิ่ง
ที่กาญจนบุรี ตำรวจไทยเอาปืนขู่ค้นตัวทหารญี่ปุ่นที่เดินมาตามทางอย่างไม่เกรงกลัว …ทหารญี่ปุ่นไม่ได้รับความสะดวกในการซื้อหาอาหารทั้งในตลาดและทั่วๆ ไป …เดินสวนคนไทยเมื่อใดก็ถูกตะโกนใส่ว่า “บากายาโร่” ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ไอ้บ้า”
ทหารญี่ปุ่นช่วงนั้นไปไหนมาไหนต้องติดอาวุธไว้ป้องกันตัวเอง ที่กรุงเทพทหารญี่ปุ่นถึงกับต้องขุดสนามเพลาะบริเวณโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นยึดไว้เป็นกองบัญชาการ เมื่อมีงานสโมสรสันนิบาตซึ่งจัดโดยฝ่ายไทย ทหารญี่ปุ่นก็ไม่กล้ามาร่วมงานตามคำเชิญแม้แต่คนเดียว
บุหรี่มวนเดียวเนี่ยนะ…
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ใน www.marumura.com