![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนารท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธใน www.marumura.com
เหินป้องฟฐพี
ทันทีที่ได้ยินเสียงแตรสัญญาณเหตุสำคัญ ทุกชีวิตในกองบินก็พร้อมเข้าปฏิบัติการตามแผนที่ซักซ้อมกันไว้แล้วจนช่ำชอง …

เครื่องบินที่จัดเตรียมพร้อมในสนามบินทุกเครื่องติดเครื่องยนต์กระหึ่มทำลายความเงียบสงัด เตรียมเหินขึ้นป้องกันน่านฟ้าไทยทันที เรืออากาศตรี แม้น ประสงค์ดี นำเครื่องบินขับไล่แบบ ๑๗ ฮอว์ค ๓ พร้อมลูกระเบิดขนาด ๕๐ กิโลกรัมบินขึ้นได้ก่อนเป็นเครื่องแรก และจัดว่ามีโชคดีที่สุดเมื่อเทียบกับเพื่อนนักบินที่กำลังพยายามนำเครื่องบินขึ้นติดตามมา เขานำเครื่องบินตรงไปในทะเล ครั้นเมื่อตรวจการณ์เห็นเงาตะคุ่มในท้องทะเลห่างจากฝั่งไปไม่มากนักคาดว่าเป็นเรือลำเลียงของข้าศึก จึงตรงเข้าทิ้งระเบิดหวังทำลายเรือดังกล่าว แต่ลูกระเบิดพลาดที่หมาย จากนั้นจึงนำเครื่องบินเลยไปเพื่อลงที่สนามบินต้นสำโรง นครปฐม แต่เครื่องบินเกิดขัดข้องต้องร่อนลงที่ชายหาดบริเวณอ่าวชะอำ เพชรบุรีเสียก่อน เรืออากาศตรีแม้นปลอดภัย
เครื่องบินลำที่ ๒ มีพันจ่าอากาศเอก พรม ชูวงศ์ เป็นนักบิน ขณะกำลังจะวิ่งขึ้นก็ถูกทหารญี่ปุ่นที่หลบซ่อนตัวดักคอยอยู่ในสนามบินรุมยิงจนฐานล้อหัก เครื่องบินเสียหลัก นักบินจึงกระโดดลงจากเครื่อง แต่ก็ถูกแทงด้วยดาบปลายปืน เสียชีวิตทันที
เครื่องบินลำที่ ๓ มีจ่าอากาศเอก จำเนียร วารียะกุล กับเครื่องที่ ๔ ซึ่งมีจ่าอากาศเอก สถิต โรหิตเสถียรเป็นนักบิน ขณะนำเครื่องบินวิ่งขึ้นก็ถูกทหารญี่ปุ่นระดมยิงจนเสียชีวิตทั้งคู่
เครื่องบินลำที่ ๕ มีพันจ่าอากาศเอก กาบ ขำศิริ เป็นนักบิน ขณะที่กำลังรอให้พันจ่าอากาศโท พร เฉลิมสุข นายทหารการอาวุธถอดลูกระเบิดขนาด ๕๐ กิโลกรัมออกเพื่อบรรจุกระสุนปืนกลให้แทนอยู่นั้นก็ถูกทหารญี่ปุ่นรุมทำร้าย พันจ่าอากาศโทพรถูกฟันมือซ้ายเกือบขาด ส่วนพันจ่าอากาศเอกกาบถูกยิงที่เท้า ไม่สามารถต่อสู้ แต่หลบหนีทหารญี่ปุ่นออกมาได้

สำหรับเครื่องบินโจมตีแบบ ๒๓ คอร์แซร์ ซึ่งมีเรืออากาศโท สวน สุขเสริม ผู้บังคับหมวดบินเป็นนักบินพร้อมด้วยพลทหาร สมพงษ์ แนวบันทัด พลปืนหลัง ขณะกำลังเตรียมวิ่งขึ้นได้ถูกทหารญี่ปุ่นยิงจนเครื่องบินชำรุดเสียหาย เรืออากาศโทสวนกับพลทหารสมพงษ์จึงกระโดดลงจากเครื่อง และถูกทหารญี่ปุ่นรุมล้อมทำร้าย เรืออากาศโทสวนถูกแทงที่สะโพกด้านหลังบาดเจ็บสาหัส ส่วนพลทหารสมพงษ์ที่เข้าช่วยก็ถูกฟันด้วยดาบซามูไรที่ต้นแขนซ้ายจนเกือบขาด ต้องพิการตลอดชีวิต
สรุปแล้ว ในจำนวนเครื่องบินทั้ง ๑๐ เครื่องนั้น มีเพียงเครื่องเดียวเท่านั้นที่สามารถบินขึ้นปฏิบัติภารกิจโจมตีที่หมายได้ แม้จะไม่สามารถสร้างความเสียหายแก่เป้าหมายได้ก็ตาม
แต่นักบินทุกท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสง่างามสมชายชาตินักรบแล้ว
กองรักษาการณ์ตายเกือบหมด
เมื่อการรบทางอากาศจบสิ้นลงอย่างรวดเร็วแล้ว ที่เหลือจึงเป็นเรื่องของแนวรบภาคพื้นดินที่จะรักษากองบินไว้ให้ได้…
ทางด้านที่ตั้งปืนกลหนักที่เขาตาเหลือกซึ่งมีจ่าอากาศตรี บัญญัติ ศรีแก้ว เป็นผู้บังคับหมู่ได้ยิงต่อสู่กับทหารญี่ปุ่นอยู่พักหนึ่ง ปืนกลก็เกิดติดขัดยิงต่อไปอีกไม่ได้ และเห็นว่ากำลังถูกทหารญี่ปุ่นกระชับวงล้อมแน่นเข้ามาทุกขณะ จ่าอากาศตรีบัญญัติจึงถอดลูกเลื่อนปืนออกเพื่อให้ใช้การไม่ได้หากถูกข้าศึกยึดไป แล้วนำปืนไปซ่อนไว้ในหลืบเขา จากนั้นพร้อมด้วยทหารร่วมตายในบังคับบัญชาก็พากันถอนตัวไปหลบซ่อนอยู่ตามทางรถไฟด้านตะวันตกของสนามบิน
สำหรับทางด้านกองรักษาการณ์ซึ่งมีความสำคัญในฐานะเป็นปากทางสู่ตัวกองบินนั้น จนใกล้จะถึงเวลา ๐๕.๐๐ น. จ่าอากาศเอก นิกร พวงไพโรจน์ ผู้บังคับกองรักษาการณ์เห็นว่าไม่มีทหารที่ประจำอยู่ที่ตั้งปืนกลทางด้านนอกถอนตัวกลับมาเลยแม้แต่คนเดียว แต่กลับมีกลุ่มคนจำนวนมากคืบคลานเข้ามายังที่ตั้งกองรักษาการณ์ ฟังจากเสียงพูดเป็นทหารญี่ปุ่นอย่างแน่นอน จ่าอากาศเอกนิกรจึงสั่งการให้เริ่มยิงสกัดตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐ น. เป็นต้นมา แต่ฝ่ายญี่ปุ่นก็ยังไม่ยอมถอนตัวและยังคงปักหลักยิงต่อสู้หวังจะยึดกองรักษาการณ์ซึ่งเป็นที่หมายสำคัญให้ได้

เวลาประมาณ ๐๖.๐๐ น. ผู้บังคับกองบินน้อยซึ่งควบคุมอำนวยการรบเป็นส่วนรวมในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของพื้นที่สังเกตว่า เสียงปืนทางด้านกองรักษาการณ์เบาบางลง จึงสั่งให้เรืออากาศตรี ผล ทองปรีชา ผู้บังคับหมวดสัมภาระนำทหารสัมภาระไปเสริมกำลังกองรักษาการณ์
เมื่อเรืออากาศตรีผลไปถึง ก็พบข้าศึกกำลังขุดสนามเพลาะขวางทางอยู่ มีธงญี่ปุ่นปักอยู่ปากหลุม จึงสั่งให้ทหารขยายแถวยิงต่อสู้ แล้วมอบให้จ่าอากาศโท ฉาบ (พิพัฒน์) ไชยวัฒน์ ควบคุมแทน ส่วนตัวเรืออากาศตรีผลรีบกลับไปรายงานให้ผู้บังคับกองบินน้อยทราบถึงสถานการณ์ที่ได้พบเห็น
ทางฝ่ายกำลังกองรักษาการณ์แม้จะไม่ได้รับกำลังส่วนที่ส่งมาช่วยและกำลังที่มีอยู่เดิมก็ลดน้อยลงตามลำดับจากการยิงของฝ่ายญี่ปุ่นก็ตาม ก็ยังคงต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นต่อไปอย่างเข้มแข็ง แต่ถึงที่สุดก็ไม่สามารถต้นทานกำลังทหารญี่ปุ่นได้ ทหารไทยที่จุดนี้จึงเสียชีวิตเกือบทั้งหมด มีผู้บาดเจ็บและหนีรอดออกมาได้เพียง ๒ คน คือจ่าอากาศเอก นิกร พวงไพโรจน์ ผู้บังคับกองรักษาการณ์ และพลทหาร จิต อ่ำพันธ์ พนักงานวิทยุ ซึ่งหลบซ่อนตัวอยู่ภายในสถานีวิทยุสื่อสารที่อยู่ทางด้านหลังกองรักษาการณ์นั่นเอง

เมื่อสถานการณ์คับขันมาถึงขนาดนี้แล้ว ผู้บังคับกองบินน้อยจึงได้สั่งการให้จ่าอากาศตรี ผัน รำทะแย (สุชาติ ชาญยุทธกุล) ฝ่าแนวกระสุนไปที่สถานีวิทยุซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังกองรักษาการณ์เพื่อติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยเหนือ ต่อมาจ่าอากาศตรีผันได้กลับมารายงานว่า กองรักษาการณ์และสถานีวิทยุถูกทหารญี่ปุ่นยึดไปเสียแล้ว…
จากนั้น จ่าอากาศตรีผัน ก็ล้มฟุบลงหมดสติ เพราะได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกทหารญี่ปุ่นฟันและแทงด้วยดาบซามูไรบริเวณหลังประมาณถึง ๒๐ แผล
สถานการณ์สิ้นหวัง
เวลาประมาณ ๐๖.๐๐ น. ตีนฟ้าเริ่มเปิด เรือระบายพลของทหารญี่ปุ่นก็เกยหาดตรงจุดใกล้โรงเก็บเครื่องบินเรืออากาศตรี สมศรี สุจริตธรรม พร้อมด้วยกำลังในหมวดทหารราบประมาณ ๑๐ คน ซึ่งวางกำลังซุ่มคอยทีอยู่แล้วก็เปิดฉากยิงทหารญี่ปุ่นที่ลงจากเรือทั้ง ๓ ลำ ทำให้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้มีทหารญี่ปุ่นจำนวนไม่มากนักที่สามารถเล็ดลอดขึ้นบกได้
เวลาประมาณ ๐๗.๐๐ น. ทหารไทยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด จนกระทั่งทหารญี่ปุ่นสามารถยึดแนวโรงเก็บเครื่องบินและกองรักษาการณ์ได้แล้ว ผู้บังคับกองบินน้อยจึงสั่งการให้เผาทำลายกองบังคับการกองบินเสีย เมื่อเห็นอาคารกองบังคับการถูกเผาแล้ว เรืออากาศโท ประหยัด กาญจนวิโรจน์ นายแพทย์ผู้บังคับหมวดเสนารักษ์ก็จึงสั่งให้เผาอาคารที่ทำการและห้องพักคนไข้ของหมวดเสนารักษ์ด้วย
สถานการณ์ทั้งทางอากาศและทางพื้นดินอยู่ในความสิ้นหวัง…

ครอบครัวยืนหยัด
กองบินน้อยแห่งนี้ก็คล้ายๆ กับค่ายทหารทั่วไปคือมีที่พักสำหรับครอบครัวทหารร่วมอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อค่ายถูกโจมตีลูกเมียของทหารก็จึงต้องพลอยรับเคราะห์กรรมไปด้วย…
ฝ่ายครอบครัวทหารตามเรือนแถวพัก เมื่อได้ยินเสียงแตรสัญญาณเหตุสำคัญต่างก็พากันลงหลุมหลบภัยที่หน้าเรือนแถวของตนแล้วหลบซ่อนอยู่ในนั้น
ครั้นเวลาประมาณ ๐๗.๐๐ น. หลังจากเผาอาคารกองบังคับการกองบินและหมวดเสนารักษ์แล้ว เรืออากาศตรี ผล ทองปรีชา ผู้บังคับหมวดสัมภาระได้สั่งให้ครอบครัวทหารเหล่านั้นพากันไปหลบอยู่ที่เชิงเขาล้อมหมวก จัดการหุงหาอาหารเลี้ยงดูกันและเพื่อส่งไปให้ทหารในแนวหน้าซึ่งกำลังสู้รบติดพันอยู่ พร้อมกับช่วยกันจัดตั้งสถานีปฐมพยาบาลและที่รวบรวมผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการรบขึ้นที่เรือนแถวเชิงเขาล้อมหมวกนั่นเอง
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ใน www.marumura.com