จำได้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่อง Culture shock แรกๆ ตอนที่ดิฉันกลับมาอยู่เมืองไทย ตอนไปทานข้าวกับญาติๆ ดิฉันเห็นป้าๆ ที่อายุเกือบ 70 ทานไก่ทอด ของทอดกันหมุบหมับอย่างเอร็ดอร่อย ดิฉันตกใจมาก เพราะหากเป็นผู้สูงอายุญี่ปุ่น คนในวัยนี้จะทานแต่ผักกับเต้าหู้!!
ลองจินตนาการว่า …. หากท่านต้องนั่งเครื่องบินไปร่วมการประชุมที่ปักกิ่ง 3 วัน หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ ท่านต้องนั่งเครื่องบินไป 6 ชั่วโมง เพื่อประชุมที่โตเกียว ท่านคิดว่า ภารกิจการเดินทางครั้งนี้ เหน็ดเหนื่อยไหมคะ?
นี่คือตารางการเดินทางของท่านประธานอาวุโสขององค์กรญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง …. ผู้ซึ่งอายุ 93 ปี
สัปดาห์ก่อน ดิฉันมีโอกาสได้ช่วยเหลืองานองค์กรและได้พบกับท่านประธานท่านนี้ ดิฉันโชคดีที่ได้มีโอกาสร่วมโต๊ะอาหารเดียวกับท่านหลายครั้ง ท่านยังติดตามข่าวบ้านเมืองทั่วโลกอยู่ตลอด ส่วนเรื่องเก่าๆ อย่างการมาเมืองไทยเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ท่านก็ยังจำได้แม่น ท่านประธานจำชื่อมหาวิทยาลัยไทยยาวๆ ได้ แถมยังจำชื่ออาจารย์บางท่านที่ท่านได้มีโอกาสร่วมงานด้วยได้อยู่ สุดยอดจริงๆ ค่ะ
จากการพูดคุยและแอบสังเกตท่านประธาน ตลอดจนผู้สูงอายุญี่ปุ่นหลายๆ ท่าน ดิฉันพบว่า ทุกท่านมีลักษณะคล้ายกันดังต่อไปนี้ค่ะ
1. ช่วยเหลือตัวเอง
คนไทยเรามักจะดูแลผู้สูงอายุเป็นอย่างดี เช่น ลุกให้นั่ง ช่วยถือของ หรือช่วยประคองเวลาท่านต้องเดินไปไหน
แต่ผู้สูงอายุญี่ปุ่นนั้น กลับกันเลยค่ะ ทุกคนจะดูแลตนเองเป็นอย่างดี แม้แต่ท่านประธานวัย 93 ปีของดิฉัน ขนาดมาประชุมกับเลขาฯ และผู้ช่วยอีกท่าน ท่านประธานก็ยังถือกระเป๋าเอง เดินไปไหนมาไหนเอง ไม่ต้องให้ใครพยุง
ส่วนตอนมื้อค่ำ ท่านประธาน ดิฉัน และแขกอีก 10 คนร่วมทานข้าวโต๊ะอาหารเดียวกัน ท่านประธานก็ใช้ตะเกียบคีบอาหารทานเองอย่างคล่องแคล่ว ตอนแรก ดิฉันก็สงสัยว่า ทำไมเลขาฯ กับผู้ช่วยฯ ไม่ได้ช่วยตักอาหารอะไรให้ท่านเลย แต่ก็มาทราบทีหลังว่า ท่านต้องการทำด้วยตัวเอง
คนญี่ปุ่นเป็นคนขี้เกรงใจมากๆ เขาจะรู้สึกเกรงใจถ้ามีใครมาคอยบริการอะไรทุกกระเบียดนิ้วค่ะ แม้สูงวัยแล้ว ส่วนใหญ่ก็ยังพยายามช่วยเหลือตัวเองอยู่ คุณป้าที่ดิฉันรู้จักคนหนึ่ง อายุเกือบ 70 ปีแล้ว ตอนแกไม่สบาย แกก็อุตส่าห์เดินยอกแยกมาที่ป้ายรถเมล์ และนั่งรถเมล์ไปโรงพยาบาลเอง ดิฉันถามว่า ทำไมไม่ให้ลูกคนใดคนหนึ่งมารับ แกบอกง่ายๆ ว่า เกรงใจ ไม่อยากให้เขาลางานกันมา ทุกคนมีภาระหน้าที่ … โอ… ดิฉันก็ได้แต่เสียวว่า แกจะไม่เป็นอะไรกลางทางไป
แต่การต้องช่วยเหลือและทำอะไรด้วยตัวเองนี่แหละค่ะ ทำให้ผู้สูงอายุได้คิด ได้วางแผน ได้ออกแรงบ้าง ทำให้ไม่หลงๆ ลืมๆ และร่างกายก็ยังใช้การได้ ไม่แปลกใจที่เวลาไปภูเขาฟูจิ หรืออุทยานป่าอะไรสักอย่าง เรามักจะเจอกับกลุ่มผู้สูงอายุสะพายเป้ใบเล็กๆ เดินมากันเป็นกลุ่มเลย อายุมากแล้ว แต่ร่างกายก็ยังแข็งแรงอยู่มากๆ ค่ะ
2. ระวังเรื่องอาหาร (เป็นอย่างยิ่ง)
จำได้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่อง Culture shock แรกๆ ตอนที่ดิฉันกลับมาอยู่เมืองไทย ตอนไปทานข้าวกับญาติๆ ดิฉันเห็นป้าๆ ที่อายุเกือบ 70 ทานไก่ทอด ของทอดกันหมุบหมับอย่างเอร็ดอร่อย ดิฉันตกใจมาก เพราะหากเป็นที่ญี่ปุ่น คนในวัยนี้จะทานแต่ผักกับเต้าหู้
ตัดภาพมาที่ญี่ปุ่น … ยิ่งอายุมากเท่าไร ผู้สูงอายุญี่ปุ่นจะลดหวาน ทอด มัน เค็ม กันหมด ลดกันอย่างจริงจัง ทุกท่านที่ดิฉันเจอ จะทานผัก ผลไม้ ปลา เต้าหู้เป็นหลัก ส่วนอาหาร ก็จะเลือกอาหารญี่ปุ่นพวกมิโสะซุป ปลาย่าง ส่วนอาหารฝรั่งอย่างอิตาลี หรือสเต๊กนี่ ผู้สูงอายุจะไม่ค่อยทานกันค่ะ
นอกจากระวังเรื่องรสชาติ ผู้สูงอายุญี่ปุ่นจะระวังปริมาณด้วย เลือกทานทีละน้อยค่ะ
3. สนุกกับการเรียนรู้
จริงๆ คนญี่ปุ่นเป็นคนชอบศึกษาหาความรู้อยู่แล้ว แม้อายุมาก เกษียณแล้ว ก็ยังชอบศึกษาหาความรู้กันอยู่ มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นหลายแห่ง เปิดบริการเรียนออนไลน์ วิทยุ หรือสื่อ DVD ต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถสมัครเรียนได้ ดิฉันจำได้ว่า ตอนเรียนที่มหาวิทยาลัยญี่ปุ่น ช่วงเช้าๆ จะเห็นคุณลุงคุณป้าเดินไปเดินมาในแคมปัส แว้บแรก ดิฉันคิดว่าเป็นอาจารย์ แต่ดูจากการแต่งตัว (ชิลๆ) และอายุที่น่าจะราว 80 ได้ ก็คิดว่าคงไม่ได้มาสอนแน่ มารู้เอาทีหลังว่า พวกท่านมาเป็น “นักเรียน” กันค่ะ
นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นก็สนับสนุนให้มีการสร้างหลักสูตร lifelong learning โดยเปิดเป็นศูนย์บริการความรู้ให้ผู้สูงอายุไปเรียนกัน ในเมืองโกเบที่ดิฉันอยู่ ก็มีสถานที่ที่ชื่อว่า “Shiawase no Mura” แปลว่า หมู่บ้านแห่งความสุข … ตอนแรก ดิฉันเห็นป้ายบนรถเมล์เขียนไปที่นี่ เกือบจะลองนั่งไปดูแล้วค่ะ นึกว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหรือสวนสนุก ปรากฏว่า กลายเป็นศูนย์บริการเพื่อผู้สูงอายุ มีทั้งสปา สปอร์ตคลับ ห้องเรียน จักรยานให้เช่า โอ้โห … ดูครบครันมากค่ะ คุณลุงคุณป้าญี่ปุ่นก็ชอบกัน เพราะได้มาเจอเพื่อนใหม่ๆ ด้วย ได้สนุกกับกิจกรรมต่างๆ ด้วย
4. อารมณ์ดี
ผู้สูงอายุที่อายุยืนๆ ส่วนใหญ่จะอารมณ์ดีค่ะ (^_^) ขอยกตัวอย่างลูกศิษย์คนญี่ปุ่นที่เรียนภาษาไทยกับดิฉันท่านหนึ่ง แกเป็นคุณป้าวัย 6x ปีแล้ว ตัวใหญ่ๆ ตอนไปเที่ยวเมืองไทย ร้านค้าที่ไหนไม่ทราบแซวแกว่า “ปุ้มปุ้ย” แกก็ติดอกติดใจ หลังจากนั้น ก็ยึดชื่อ “ปุ้มปุ้ย” เป็นชื่อเล่นภาษาไทยของตัวเองมาโดยตลอด แกว่า เสียงมันฟังดูน่ารักและเห็นภาพดี เวลาเจอคนไทยคนไหน แกก็จะแนะนำตัวเองว่า “ดิฉัน ชื่อ ปุ้มปุ้ย ค่า ไซส์ บิ๊ก บิ๊ก เน้” อารมณ์ดีจริงๆ ค่ะ (ล่าสุด แกบอกว่า จะไปล่องเรือสำราญไปเที่ยวรัสเซียค่ะ … นี่อายุ 70 กว่าแล้วนะคะ)
ส่วนท่านประธานวัย 93 ของดิฉันก็น่ารักเช่นเดียวกัน ตอนที่ท่านจะนั่งที่โต๊ะทานอาหาร ดิฉันรีบเดินไปจะยกเก้าอี้เขยิบให้ท่านนั่งง่ายๆ ท่านบอกว่า “โอย … อาจารย์ไม่ต้องทำขนาดนี้ให้ผมก็ได้ครับ แม้ว่าสมองผมไม่ค่อยดีแล้ว แต่ร่างกายยังพอใช้ได้อยู่ครับ” สุดแสนจะชวนอมยิ้มและถ่อมตัวมากๆ ค่ะ
นี่คือเรื่องราวเคล็ดลับอายุยืนแบบคุณตาคุณยายญี่ปุ่น ท่านใดได้ไปเที่ยวแล้วมีโอกาสพบเจอท่านเหล่านี้ ลองทักทายพูดคุยกันบ้างนะคะ แม้อาจจะสื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ดิฉันมั่นใจว่า ท่านจะได้รับพลังความสดใสและน่ารักจากคุณตาคุณยายแน่นอนค่ะ!
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> เกตุวดี Marumura
อ่าน Japan Gossip ทั้งหมด CLICK HERE
เรื่องแนะนำ :
– อนุรักษ์อย่างสร้างสรรค์ … บทเรียนจาก “โขน” ญี่ปุ่น
– บริการดีๆ เมื่อช้อปปิ้งที่ญี่ปุ่น
– นิสัยดี ๆ ที่ได้จากการไปอยู่ญี่ปุ่น
– ร้าน 100 เยนญี่ปุ่นแต่ละเจ้า ต่างกันอย่างไร
– ใส่ยูกาตะในโรงแรมอย่างไรให้ดูญี่ปุ๊นญี่ปุ่น