เดทแรกในญี่ปุ่น ‘คุณ’ หรือ ‘เขา’ ที่ต้องจ่าย!
ไม่ว่าคุณจะอยู่ในประเทศไหนก็ตาม เราเชื่อว่าเดทแรกของทุกคนย่อมมีความสำคัญเสมอ เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นที่จะเป็นตัวชี้วัดความสัมพันธ์ระหว่างคุณและเขาว่าจะมีครั้งต่อๆ ไปได้อย่างยืนยาว หรือจะปิดฉากอวสานกันแค่จบเดทแรกเพียงเท่านี้! เรื่องหนึ่งที่หลายคนทำตัวไม่ถูกเมื่อมีโอกาสออกเดทครั้งแรกก็คือเรื่องของค่าใช้จ่าย จะให้เขาจ่ายก็กลัวจะดูไม่ดี เราจะจ่ายเองก็กลัวจะมีปัญหา หรือถ้าหารครึ่งกันล่ะ อีกฝ่ายจะคิดว่าเราดูถูกมั้ย?
สำหรับคนที่กำลังวางแผนจะเริ่มต้นคบหาดูใจกับใครซักคนที่เป็นชาวญี่ปุ่นซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งรายละเอียดต่างๆ อยู่พอดี เชื่อว่าบทความนี้น่าจะมีประโยชน์กับคุณแน่นอน!!
แน่นอนว่าวัฒนธรรมการจ่ายเงินในเดทแรกนั้นมักเป็นเรื่องกระอักกระอ่วนชวนทำตัวไม่ถูกอยู่เสมอ เนื่องจากแต่ละประเทศก็มีบรรทัดฐานทางสังคมและความคาดหวังที่แตกต่างกันไป ในประเทศตะวันตกบางประเทศ เช่น เยอรมนี หรือ เนเธอร์แลนด์ มักนิยมหารค่าใช้จ่ายกันในเดทแรกเสมอ ซึ่งต่างจากอีกหลายประเทศโดยเฉพาะในโซนเอเชียที่มีวัฒนธรรมชายเป็นผู้นำฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน และสำหรับชาวญี่ปุ่นก็ย่อมไม่แตกต่างกันซักเท่าไหร่ หากในทุกวันนี้ที่ความเท่าเทียมทางเพศกำลังได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น ทำให้รูปแบบการจ่ายเงินในเดทแรกของชาวญี่ปุ่นค่อนข้างหลากหลาย โดยอาจจะขึ้นอยู่กับรายละเอียดอื่นๆ ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นกฎเกณฑ์ที่ระบุไว้ตายตัว
หากคู่เดทของคุณเป็นชาวญี่ปุ่นที่เป็นคนรุ่นเก่าหรืออยู่ในวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย คนญี่ปุ่นในรุ่นนี้มักคาดหวังให้ฝ่ายชายเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในเดทแรกมากกว่า เนื่องจากอาจยังมีความคิดที่ค่อนข้างติดอยู่ในเรื่องของเพศ วัย และการเป็นผู้นำ-ผู้ตาม รวมถึงฝ่ายหญิงยังอาจจะรู้สึกว่าฝ่ายชายควรดูแลพวกเธอได้ อีกทั้งยังหมายถึงการที่พวกเขาแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความพร้อมที่จะคบหาดูใจกันในระยะยาวต่อไป และแม้ว่าคู่เดทชาวญี่ปุ่นที่ค่อนข้างเป็นคนรุ่นใหม่จะเปิดใจกับการหารค่าใช้จ่ายในการออกเดทมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้วฝ่ายชายก็ยังมักจะถูกคาดหวังให้เป็นคนจ่ายตังค์ในการเดทอยู่ดีนั่นละ!
สำหรับบรรดาคู่รักนักศึกษาชาวญี่ปุ่นนั้น ส่วนใหญ่มักนิยมที่จะหารค่าใช้จ่ายกันมากกว่า เนื่องจากนักเรียนหรือนักศึกษาในประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะต้องทำงานพิเศษควบคู่ไปกับการเรียนเสมอ หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องใช้เงินค่าขนมที่ได้รับจากทางบ้านอย่างค่อนข้างจำกัด คู่รักในวัยเรียนจึงค่อนข้างมีความเข้าใจในเรื่องของการใช้จ่ายในการออกเดทกันมากกว่า การช่วยกันออกเงินในการเดทนั้นจึงนับว่าเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับได้และไม่น่ามีอะไรต้องกังวล
โลเคชั่นที่คุณออกเดทหรืออาศัยอยู่ก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เพราะปัจจุบัน คู่เดทชาวญี่ปุ่นที่เป็นคนทำงานในเมืองใหญ่ๆ มักนิยมหันมาแชร์ค่าใช้จ่ายหรือจ่ายในส่วนของตัวเองเมื่อออกเดทกันมากขึ้น หากยังมีเดทครั้งต่อๆ ไป หลายคู่ใช้วิธีการสลับกันจ่าย หรือให้คนที่มีรายได้สูงกว่าเป็นคนออกเงินมากกว่าอีกฝ่าย ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมการจ่ายเงินที่ค่อนข้างเป็นปกติทั่วไปของคนในยุคที่โตมากับเรื่องราวของความเท่าเทียมกันทางเพศในประเทศญี่ปุ่นทุกวันนี้
จากเดิมที่ผู้ชายมักจะเป็นฝ่ายที่ต้องรู้สึกกดดันในเวลาจ่ายเงินตอนออกเดท เนื่องจากความคิดที่ว่าหากไม่จ่ายในครั้งนี้ ก็อาจไม่มีเดทครั้งต่อๆ ไป แต่ผลสำรวจจากชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ๆ ที่อายุราว 20+ นั้น การหารค่าใช้จ่ายในการออกเดทกันนับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างธรรมดา หากก็ยังมีผู้คนอีกราวๆ 30 – 40% ที่ยังเชื่อว่าฝ่ายชายควรเป็นคนจ่ายในเดทแรกอยู่ดี และกว่า 70% ของชายชาวญี่ปุ่นทุกวัยที่ตอบแบบสำรวจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ยังคงมีความเชื่อว่าฝ่ายชายนั่นแหละที่ควรจ่ายมากกว่า!
เหตุผลที่ทำให้หนุ่มๆ ชาวญี่ปุ่นคิดว่าพวกเขาควรต้องเป็นคนรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดทนั้น ส่วนหนึ่งก็อาจมาจากบรรทัดฐานทางสังคมของญี่ปุ่นซึ่งมักจะจ่ายค่าแรงของพนักงานเพศชายสูงกว่าเพศหญิง ซึ่งบริษัทหลายแห่งก็ยังคงมีแนวคิดความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจเช่นนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น ก็อาจมีลำดับชั้นในเรื่องอายุเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากชาวญี่ปุ่นโดยมากยังคงให้ความเคารพคนที่อายุมากกว่า และถือเป็นหน้าที่ของ ‘รุ่นพี่’ ที่มักจะต้องเป็นคนดูแลค่าใช้จ่ายให้แก่ ‘รุ่นน้อง’ เป็นเรื่องปกติของสังคมแดนอาทิตย์อุทัย
ในบางครั้ง ฝ่ายชายที่เสนอตัวเองทำหน้าที่เป็น ‘ผู้จ่าย’ ยังมักจะสร้างความประทับใจ และยังถูกมองว่าเป็นคนที่เอาใจใส่ รวมถึงยังเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจในการที่จะสานสัมพันธ์กับคู่เดทอีกฝ่ายต่อไปในระยะยาวอีกด้วย
วัฒนธรรมการจ่ายเงินของฝ่ายชายในการออกเดทนั้นถือเป็นความคาดหวังทางสังคมปกติทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าอาจจะมีการเปิดใจทำความเข้าใจในเรื่องการหารค่าใช้จ่ายมากขึ้นในกรณีที่คุณเป็นคนต่างชาติทางฝ่ายชาย แต่ในกรณีที่คุณเป็นหญิงสาวซึ่งมีโอกาสได้ไปเดทกับชายหนุ่มชาวญี่ปุ่นนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วพวกเขามักจะยืนกรานเป็นคนออกค่าใช้จ่าย ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการแสดงความตั้งใจในการที่จะสานสัมพันธ์กับคุณต่อไปในระยะยาว เนื่องจากหญิงสาวชาวญี่ปุ่นบางคนอาจจะรู้สึกว่าฝ่ายชายที่ชวนให้หารค่าใช้จ่ายในการเดทนั้น อาจจะไม่ได้ต้องการสานสัมพันธ์กับพวกเธออย่างจริงจังในระยะยาว ทำให้ชายหนุ่มชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะเสนอตัวเป็นผู้จ่ายมากกว่าผู้ช่วยหารนั่นเอง
ในกรณีที่คุณเป็นผู้ชาย และอยากเสนอตัวจ่ายค่าใช้จ่ายในการออกเดทให้ แต่ติดตรงที่ฝ่ายหญิงยืนกรานจะช่วยหารนั้น การเลือกที่จะชำระค่าใช้จ่ายเมื่อฝ่ายหญิงเดินออกไปทำธุระเช่นเข้าห้องน้ำหรืออื่นๆ ถือเป็นเทคนิคที่หลายคนชอบใช้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมานั่งเถียงกันให้ใหญ่โตในภายหลัง และหากคุณเป็นฝ่ายหญิงที่ต้องการช่วยออกค่าใช้จ่ายแต่ไม่อยากให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี การเสนอตัวเป็นคนจ่ายค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าขนม ค่าเครื่องดื่ม หรือแม้กระทั่งค่าตั๋วชมภาพยนตร์ เพื่อตอบแทนคืนอีกฝ่าย ก็ถือเป็นวิธีที่ไม่ทำให้ฝ่ายชายเสียอีโก้หรือรู้สึกอึดอัดใจ แถมยังทำให้คุณดูเป็นคนที่น่ารักเพิ่มขึ้นได้ด้วยเช่นกัน
อีกวิธีการที่น่าสนใจ ก็คือการตกลงในเรื่องการจ่ายค่าใช้จ่ายกันให้รู้เรื่องไปเลยตั้งแต่เริ่มต้น หากคุณเป็นคนที่ซีเรียสในเรื่องนี้ ควรบอกคู่เดทของคุณไปให้ชัดเจนตั้งแต่ก่อนจะออกเดทกัน เพื่อป้องกันความไม่เข้าใจ หรือความน่าอึดอัดในบรรยากาศที่อาจจะก่อตัวขึ้นได้ในภายหลัง และหากคุณเป็นคนที่มีรายได้จำกัด การพูดคุยตกลงกันในเรื่องระดับของร้านอาหารหรือกิจกรรมต่างๆ ที่วางไว้ในแพลนถือเป็นเรื่องที่ควรทำ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในเรื่องของราคาค่าใช้จ่ายที่เกินกำลัง ซึ่งอาจทำให้คุณทั้งคู่รู้สึกไม่ดีในภายหลังได้นั่นเอง
แม้โดยรวมแล้ว หนุ่มๆ ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะยังดูเหมือนคนที่ถูกบรรทัดฐานทางสังคมกำหนดให้เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายเมื่อต้องออกเดทมากกว่า แต่เชื่อเถอะว่าทุกอย่างสามารถพูดคุยได้ เพราะคนที่ขยันควักจ่ายทุกอย่างอาจจะไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคนน่ารัก ในขณะที่คนซึ่งขยันหารทุกบาททุกสตางค์ก็อาจจะกลายเป็นคนที่ไม่ค่อยน่าคบเช่นกัน ทุกอย่างนั้นล้วนขึ้นอยู่กับความพอดีและพอใจ แค่หาความเหมาะสมและคู่เดทที่มีความเข้าใจ เดทแรกของคุณทั้งคู่ก็น่าจะไม่ใช่เดทสุดท้ายอย่างแน่นอน!
เรื่องแนะนำ :
– 10 สิ่งเช่าได้ในญี่ปุ่น ที่คุณอาจไม่เคยรู้!
– จาก ‘Bocchi Culture’ สู่ ‘กระทรวงแห่งความเหงา’
– ชี้เป้า 10 ซูเปอร์มาร์เก็ตราคาดี๊ดีในโอซาก้า สายช้อปสายกินต้องมาโดน!
– Harikuyo – มีนานี้ ไปชมงานเทศกาลเด็กผู้หญิงที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นกันเถอะ!
– รวม 5 ศาลเจ้าสวัสดีปีงู … พิกัดขอพรปี 2025 ที่สายมูต้องไป!
– ปักหมุด 9 ตลาดนัดคริสต์มาสเด็ดๆ รอบโตเกียว จะเฟี้ยวแค่ไหนต้องไปโดน!
ข้อมูลอ้างอิง:
– https://blog.gaijinpot.com/who-should-pay-on-a-date-in-japan/
– https://teamjapanese.com/japanese-love-words/
– https://epic-j.com/j-culture/culture/life-all/warikan-payment/
#เดทแรกในญี่ปุ่น ‘คุณ’ หรือ ‘เขา’ ที่ต้องจ่าย!