![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนารท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธใน www.marumura.com

ตลอดเวลาแห่งชีวิตนักเรียนเตรียมทหารและนักเรียนนายร้อยของผมและเพื่อนนักรบร่วมรุ่น คำขวัญหนึ่งที่เราถูกปลูกฝังซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือ “ตายเสียดีกว่าอยู่เป็นผู้แพ้” และครั้นเมื่อจบการศึกษาออกมาทำหน้าที่ผู้บังคับบัญชา เราก็จะถ่ายทอดคำขวัญนี้ไปยังผู้ใต้บังคับบัญชาของเราต่อเนื่องไป ทำเช่นนี้ ทุกรุ่น ทุกระดับ สืบเนื่องกันมาไม่รู้จบ
พูดก็พูดเถอะ…สำหรับผมแล้วไม่ได้ตระหนักซาบซึ้งอะไรกับคำขวัญนี้และคำขวัญอื่นๆ อีกหลายคำขวัญ ตรงข้ามกลับมีบ้างที่มีความคิดแปลกๆ ผุดพรายขึ้นมาเป็นบางคราวว่า “จริงหรือ?” แต่แล้วก็ไม่ได้เก็บมาคิดต่อให้เปลืองสมองเปลืองเวลา แล้วกลับไปทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เรื่องเป็นเรื่องตาย-ไม่ใส่ใจ บ่อยครั้งความรู้สึกของผู้หมวดหนุ่มที่ว่าตัวเองยังเป็นเด็ก แล้วนึกว่าความตายเป็นเรื่องของผู้ใหญ่จึงยิ่งไม่ได้ใส่ใจหนักเข้าไปอีก
มาครุ่นคิดเรื่อง “ตายเสียดีกว่าอยู่อย่างผู้แพ้” รวมทั้ง “ตายในสนามรบเป็นเกียรติของทหาร” ก็เมื่อได้รับรู้เรื่องราวของทหารญี่ปุ่นเมื่อครั้งสงครามแปซิฟิกนี่เองว่า เรื่องทำนองนี้มิได้เป็นเพียงถ้อยคำหรูหราที่ตะโกนผ่านหูซ้ายทะลุหูขวาเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องจริงจังของทหารแห่งองค์สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น
แน่นอน ย่อมมีข้อโต้แย้งมากมายต่อความคิดตามคำขวัญนี้ แต่ผู้ที่จะอธิบายเหตุผลความเป็นมาของกองทัพญี่ปุ่นเมื่อครั้งนั้นได้ดีที่สุด ก็คือ…ทหารญี่ปุ่นเอง
บางตอนในบันทึกของพันเอก ฮิโรมิฉิ ยาฮาร่า อดีตเสนาธิการอาวุโส กองทัพที่ 32 ประจำกองกำลังป้องกันเกาะโอกินาวา ใน THE BATTLE FOR OKINAWA เล่าถึงวิธีคิดและปฏิกริยาของผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันเกาะโอกินาวาต่อข้อเสนอ “ยอมแพ้อย่างมีเกียรติ” ของฝ่ายอเมริกันในศึกโอกินาวาครั้งนี้ว่า
“ขณะนอนอยู่บนเตียงในห้องมืดๆ ผมคิดถึงประวัติศาสตร์การยอมแพ้ทางทหาร ในการศึกยุคใหม่ของตะวันตก เหล่าผู้บัญชาการของฝ่ายพ่ายแพ้มักจะยอมแพ้แก่ผู้ได้ชัยอย่างสง่างาม สิ่งนี้เป็นเป็นความจริงอยู่ทั่วไปในสังคมคนผิวขาวมาตั้งแต่ยุคนโปเลียน สงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี สงครามปฏิวัติและสงครามกลางเมืองอเมริกัน มาจนกระทั่งถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ผู้บัญชาการระดับสูงสุดจะต้องรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ และเมื่อผู้บัญชาการของฝ่ายใดถูกสังหาร หน่วยที่อยู่ใต้สังกัดก็มักจะได้รับอนุญาตให้ยอมแพ้ได้เอง เท่าที่ผมจำได้ ไม่มีกรณีที่กองทัพของคนตะวันตกต่อสู้จนตัวตาย เมื่อใดที่กองทัพได้ใช้กองกำลังรบอย่างคุ้มค่าแล้ว พวกเขาก็จะยอมรับความพ่ายแพ้
แต่สำหรับที่ญี่ปุ่นแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ผู้บัญชาการที่พ่ายแพ้และผู้ใต้บังคับบัญชาจะฆ่าตัวตาย
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 มาจนกระทั่งถึงยุคฟื้นฟูเมจิในช่วงกลางของศตวรรษที่ 19 มีตัวอย่างมากมายที่ทหารทุกคนต้องตายในการปกป้องปราสาท มีบางกรณีที่เฉพาะเจ้าผู้ครองปราสาทเท่านั้นที่ฆ่าตัวตาย ในขณะที่เหล่าทหาร (ซามูไร) ยังอยู่ ในช่วงปีแรกๆ ของยุคเมจิ พวกพ้องของตระกูลโตคุกาว่าเต็มใจยอมแพ้ต่อกองทัพแห่งองค์จักรพรรดิ นับแต่ยุคฟื้นฟูเมจิเป็นต้นมา กระทั่งถึงสงครามจีน-ญี่ปุ่นกับรัสเซีย และ “เหตุจีน” ในปี 1931 ญี่ปุ่นไม่เคยพ่ายแพ้เลย เราไม่เคยทำสงครามในแบบที่กองกำลังขนาดใหญ่ถูกแยกออกจากการสนับสนุนของแผ่นดินใหญ่ด้วย ดังนี้ การไม่ถูกจับเป็นเชลยจึงถือเป็นระเบียบข้อหนึ่งและส่วนหนึ่งของหลักสูตรของกองทัพด้วย
นับจากช่วงกลางของสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทหารส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นในหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกยึดมั่นในกฎสูงสุดข้อนี้ “อย่ายอมแพ้ให้แก่ข้าศึก” ทั้งนายและพลทหารมักเลือกสังหารตัวเองเป็นทางออกสุดท้ายเพื่อหลีกเลี่ยงความ “เสื่อมเสีย” อันสูงสุดหากต้องถูกจับ
ตอนนี้กองทัพที่ 32 ของเรากำลังเผชิญสถานการณ์นี้ ทหาร 100,000 คนควรต้องตายเพราะธรรมเนียมนี้หรือ ?
นับจากจุดนี้เป็นต้นไป มันไม่มีเรื่องอะไรอื่นนอกจากสมรภูมิเพื่อสังหารทหารญี่ปุ่นที่ยังเหลือโดยไม่ได้อะไรขึ้นมา เราคงทำความเสียหายให้ศัตรูได้เพียงเล็กน้อย พวกเขาสามารถเดินไปเดินมาในท้องทุ่งการรบได้อย่างเสรี สงครามแห่งการบั่นทอนกำลังจบลงแล้ว
และเราก็เพียงแค่ขอให้ข้าศึกใช้กำลังอันน่าเกรงขามของพวกเขาสังหารเราเสียให้หมดเท่านั้นเอง”
ทหารญี่ปุ่นในอดีตคิดกันเช่นนี้ – ทุกวันนี้มีทหารชาติใดยังคงคิดเช่นนี้บ้าง โดยฉพาะทหารญี่ปุ่นซึ่งรัฐบาลปัจจุบันกำลังมีความคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ขยาย “กองกำลังป้องกันตนเอง” เป็นกองทัพที่สมบูรณ์แบบ
รัฐธรรมนูญที่แมคอาเธอร์เขียนไว้ให้เมื่อคราวยึดครองหลังความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง.
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ใน www.marumura.com