![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนต์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย
เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนาท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธใน www.marumura.com
หากไอรา เฮยส์ อินเดียนหนุ่มผู้ปฏิเสธตำแหน่งวีรบุรุษยังมีชีวิตอยู่ถึงวันนี้แล้วมีโอกาสเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย เขาคงแปลกใจกับป้ายคัตเอาท์ใหญ่โตตามเส้นทางที่มีภาพเต็มหน้าเต็มตัวของเสนาบดีแห่งประเทศนี้พร้อมถ้อยคำประโคมผลงานยกย่องตัวเองราวกับ “วีรบุรุษ”

จบเรื่องเศร้าของไอรา เฮยส์ ยังมีเรื่องของเพื่อนร่วมตาย 1 ใน 3 ที่ยังมีชีวิตหลงเหลืออยู่ – เรนี แก็กนอนผู้ยืดอกรับตำแหน่งวีรบุรุษของชาติอย่างเต็มใจแล้วรื่นระเริงไปบนเส้นทางฟองสบู่แห่งเกียรติยศที่คนอเมริกันมอบให้

เรนีกลับจากสงครามเมื่อปี 1946 ด้วยความหวังว่าตราประทับ “วีรบุรุษ” จะช่วยให้ความฝันอยากเป็นตำรวจของเขากลายเป็นความจริง แต่คุณสมบัติของชายหนุ่มไม่ถึง และดูเหมือนว่าไม่มีใครในสำนักงานตำรวจแห่งรัฐนิวแฮมเชียร์จะมีเวลาให้เขาเข้า “เยี่ยมคารวะ” ซึ่งแตกต่างกับห้วงเวลาก่อนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ดังนั้นเพียงไม่นานเขาก็กลับมาทำงานอยู่ในโรงงานเดียวกับพอลีนที่แมนเชสเตอร์
พอลีนคือภรรยาของเรนีที่หวังว่าความเป็นวีรบุรุษอิโวจิมาจะเป็น “ทางลัด” สู่ดวงดาวให้เขาและเธอ
ลูกชายของเรนีเล่าเรื่องพ่อของเขาให้เจมส์ แบรดลีย์ ผู้เขียนบันทึกเล่มนี้ว่า…
“ชีวิตของพ่อเปรียบเสมือนอยู่บนรถเหาะ วันหนึ่งเขาใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดาๆ แต่แล้วพออีกวันก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมขบวนพาเหรดหรืองานเลี้ยง ได้รับการต้อนรับราวเป็นเทพเจ้า ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มีคนจำเขาได้ ทั้งคนที่สนามบิน คนขับรถ คนทำหนังสือพิมพ์ หรือพวกบ้าขอลายเซ็น แล้วเหตุการณ์เหล่านั้นก็จะผ่านไป เขาต้องกลับมาเป็นคนธรรมดาๆ อีกครั้ง พ่อต้องปรับตัวไปมาอยู่ตลอดเวลาระหว่างการเป็น “ฮีโร่” ของใครต่อใคร กับการเป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง”
เรนีไม่เคยสามารถพาตัวลงจากรถไฟเหาะคันนั้น เพราะเดี๋ยวๆ เขาก็ไปปรากฏตัวเป็นแขกคนสำคัญตามรายการรับเชิญต่างๆ ไม่ว่าจะทางทีวี หรือโบกมือจากรถเปิดประทุนให้ฝูงชนในขบวนพาเหรด เขาแทบไม่เคยปฏิเสธโอกาสเหล่านี้เลย นาทีหนึ่ง เรนีอาจเป็นฮีโร่ของใครต่อใคร แต่นาทีถัดมาเมื่อกลับถึงบ้าน เขาก็กลายเป็นเสมียน เป็นพนักงานขายตั๋ว หรือกระทั่งเป็นพนักงานทำความสะอาดอยู่ในบริษัทท่องเที่ยวของภรรยาตนเอง

ครอบครัวของเรนี ที่สุสานสงครามแห่งอิโวจิม่า
(จากซ้าย..ลูกชายของเรนี เรนี และพอลีน)
แต่ทำไมเล่า? ทำไม่เขาจึงไม่อาจก้าวลงจากรถไฟเหาะคันนั้น ?
ดูเหมือนมีเหตุผลอยู่สามข้อด้วยกัน
ข้อแรก เป็นเรื่องของธรรมชาติความไม่เคยแข็งขืนหรือปฏิเสธสิ่งใดของตัวเขาเอง อย่างเช่น… คุณแก็กนอนครับ จะเป็นเกียรติแก่ประวัติศาสตร์ของเมืองเรามาก หากคุณจะกรุณามาบรรยายให้กลุ่มของเราฟัง…
ข้อสอง เป็นเพราะเรนีเฝ้าหวังมาตลอดเวลาว่าเขาจะ “ได้อะไร” จากภาพภาพนั้น หลังพิธีเปิดอนุสาวรีย์อย่างเป็นทางการการในปี 1954 เรนีก็เริ่มหาผู้สนับสนุนให้เขาเดินทางบรรยายแบบทั่วประเทศ คำให้สัมภาษณ์เพื่อทำสื่อโฆษณาตอนหนึ่งมีว่า
“นี่ (ประสบการณ์ครั้งนั้น) คือสิ่งเดียวที่ผมมีอยู่ในตอนนี้ ภรรยาและลูกชายของผมยังต้องการอะไรอีกหลายอย่างที่เราไม่มี…”
ตอนนั้นเขาอายุได้ 32 ปีแล้ว แต่ไม่เคยมีใครรับเป็นผู้สนับสนุนรายการให้เขา เรนีไม่เคยมีโอกาสออกเดินสายทั่วประเทศเพื่อพูดให้ประชาชนฟัง
ข้อสาม คือพอลีน ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุด
พนักงานคนหนึ่งในบริษัทท่องเที่ยวแก็กนอนจำได้ถึงความแตกต่างทางความคิดระหว่างสองสามีภรรยา
“พอลีนพอใจมากที่เขาเป็นวีรบุรุษ หล่อนพอใจที่เป็นที่สนใจของใครต่อใคร ฉันจำได้ถึงความตื่นเต้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อตอนที่รู้ตัวว่าจะไปวอชิงตัว ดี.ซี.เมื่อปี 1975 หล่อนไปหาซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ ตอนนั้นเรนีไม่ได้อยากจะไป แต่พอลีนคะยั้นคะยอเขา ซึ่งถ้าเรนีเลือกได้เองละก็…ฉันว่าเขาคงไม่ไปหรอก”

พอลีนมองว่า ชื่อเสียงของเรนีคือสิ่งซึ่งจะช่วยทำให้ชีวิตของหล่อนดีขึ้น แต่เมื่อสิ่งนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวัง หล่อนก็โมโหเสียยกใหญ่”
ลูกชายเรนีสะท้อนเรื่องราวในอดีตในประเด็นนี้อย่างชัดเจน…
“เรนี จูเนียร์จำได้ว่าย่าไอรีนมาเยี่ยมเมื่อปี 1959 “ตอนนั้นพ่อกำลังซ่อมประตู แล้วเกิดทำอะไรผิดพลาดไปเล็กน้อย แต่แค่นั้นเองก็ทำให้แม่ลุกขึ้นอาละวาดใส่พ่อ แม่ร้องว่า “แกมันโง่ ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไอ้งั่งเอ๊ย !!!” ย่าได้ยินแค่นั้นก็อดทนต่อไปไม่ไหว ท่านลุกขึ้นยืนแล้วพูดว่า ‘ผู้ชายคนนี้สร้างบ้านมาด้วยมือเปล่าๆ เขามีความสามารถแน่นอน ปัญหาที่เกิดนั้นยังไงก็ไม่ทำให้โลกถล่มลงมาวันนี้หรอก เอาละ…ตอนนี้ส่งฉันกลับบ้านได้แล้ว !’
“แม่กับย่าไม่เคยมองหน้ากันอีกเลย”
ต้นเดือนตุลาคม 1979 เรนีกับพอลีนกระทบกระทั่งกันอีกครั้ง เมื่อเรื่องราวจบลง เรนี จูเนียร์ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 32 ก็ออกปากกับบิดา “คุยกันให้รู้เรื่องเสียเถอะฮะ…”
แต่พ่อเอาแต่พูดว่า “ไม่รู้จะว่าไง…ไม่รู้จะทำไง…จะหนีไปไหนก็หนีไม่พ้น !!!”
หนีไม่พ้น!!! ลูกชายอุทาน “คำคำนั้นทำให้ผมตกใจมาก”
สามวันถัดมา แฟรงก์ เบอร์พี คนทำความสะอาดที่โคโรเนียล วิลเลจพบว่าประตูห้องต้มในอาคารหนึ่งเปิดไม่ออก เขาต้องเอาชะแลงมางัดเปิดออก แฟรงก์เจอเพื่อนคนงานนอนตายอยู่บนพื้น ที่เปิดประตูด้านในยังติดอยู่ในมือของเขา ดูเหมือนว่ามันหลุดติดมือเขาออกไปในตอนที่เรนีดิ้นทุรนทุรายต่อสู้กับอาการหัวใจวายเฉียบพลันนั่นเอง
ไม่รู้จะว่าไง…ไม่รู้จะทำไง…จะหนีไปไหนก็หนีไม่พ้น !!!
เรนีตายเมื่ออายุได้ 54…

การสู้รบเพื่อแย่งยึดเกาะอิโวจิมาเสร็จสิ้นลงด้วยชัยชนะของฝ่ายอเมริกาเมื่อ 26 มีนาคม 2488 หลังจากกำลังระลอกแรกขึ้นเหยียบฝั่งเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ ตลอดการรบครั้งนี้ ฝ่ายอเมริกันเสียชีวิตในการรบ 6,821 นาย บาดเจ็บ 19,217 นาย ฝ่ายญี่ปุ่นเสียชีวิต 18,884 นาย ตกเป็นเชลย 216 นาย อีกประมาณ 3,000 นายซ่อนตัวไม่ยอมให้จับกุม.