![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย
เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนารท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธ ใน www.marumura.com

หลั่งเลือดชะโลมอรุณ
๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นได้ส่งทหารจำนวนหนึ่งเข้ายึดบริเวณคลองท่าแพก่อนรุ่งสว่าง และขณะที่กำลังทหารของกองพันทหารราบที่ ๓๙ กำลังเคลื่อนย้ายไปยังท่าแพนั่นเอง กำลังบางส่วนของมณฑลทหารบกที่ ๖ ก็เริ่มปะทะกับกำลังทหารญี่ปุ่น โดยมีร้อยตรี ประยงค์ ไกรจิตติ ผู้บังคับหมวดกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๕ นำกำลังทหารจำนวนหนึ่งไปต้านทานทหารญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีจ่าสิบเอก ผ่อง พ่วงดวงงาม ผู้บังคับกองรักษาการณ์นำกำลังทหารส่วนหนึ่งยึดอยู่ทางด้านขวาของถนน และร้อยเอก ขุนนวมมณฑนะโยธิน (นวม นวมะรัตน์) ผู้บังคับกองพาหนะได้นำกำลังเข้าสู้รบข้าศึก โดยกระจายกำลังทหารเข้ายึดทางด้านขวาของถนน
การสู้รบด้วยกำลังทั้งสองฝ่ายดำเนินไปอย่างรุนแรง ร้อยตรีประยงค์ซึ่งอำนวยการรบอยู่ทางด้านซ้ายของถนนถูกกระสุนปืนที่โคนขาบาดเจ็บสาหัสถูกส่งกลับไปยังโรงพยาบาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องถูกตัดขาและเสียชีวิตในวันนั้นเอง ส่วนร้อยเอก ขุนนวมมณฑนะโยธิน ถูกกระสุนปืนข้าศึกเสียชีวิตทันทีขณะอำนวยการสู้รบ รวมทั้งพันตรี หลวงราญรอนสงคราม (เจริญ ราญรอนสงคราม) รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ ๖ ก็ถูกกระสุนปืนข้าศึกเสียชีวิตเช่นกันขณะตรวจการณ์สู้รบเพื่อพิสูจน์ทราบกำลังของฝ่ายญี่ปุ่น
สาดศพเข้าหากัน
แม้จะถูกต้านทานจากทหารไทยอย่างสุดชีวิต แต่ญี่ปุ่นก็ยังคงส่งกำลังทหารหนุนเนื่องเพิ่มเติมเข้ามาโดยไม่ขาดสายพร้อมขยายผลด้วยอำนาจการยิงที่เหนือกว่า ฝ่ายไทยมีกำลังน้อยกว่าจึงเริ่มตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ ประกอบกับขณะนั้นฝนตกลงมาอย่างหนัก
เมื่อกำลังรบของกองพันทหารราบที่ ๓๙ เคลื่อนที่มาถึง การสู้รบก็จึงยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก ร้อยเอก สวัสดิ์วงษ์ บูรณวิสมิต ผู้บังคับกองร้อยที่ 1 นำกำลังเข้ายึดทางด้านซ้ายของถนนและยิงต่อสู้ข้าศึก ปรากฏว่าสิบตรี ขัน ศรีดี ถูกกระสุนปืนข้าศึกเสียชีวิตทันที นอกจากนั้นยังมีทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ร้อยเอกสวัสดิ์วงษ์เองก็ถูกสะเก็ดระเบิดของข้าศึกฝังที่กลางหลังล้มฟุบลง เมื่อทหารเห็นผู้บังคับกองร้อยได้รับบาดเจ็บสาหัสเช่นนั้นก็เริ่มขวัญเสีย ประกอบกับกำลังรบของกองร้อยที่ ๑ นี้มีเพียง ๑ หมวดเท่านั้น จึงต้องถอนตัวกลับลงมาหลังแนวรบ ส่วนกำลังทหารของมณฑลทหารบกที่ ๖ ซึ่งรบติดพันอยู่กับทหารญี่ปุ่นอยู่ก่อนนั้น เมื่อผู้บังคับกองรักษาการณ์ได้รับบาดเจ็บสาหัส จึงเริ่มถอนตัวออกจากแนวปะทะโดยลำดับ ส่วนทหารญี่ปุ่นก็ทยอยรุกคืบหน้าเข้ามาแทนที่ตลอดเวลา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ใน www.marumura.com