![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนต์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย
เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนาท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธใน www.marumura.com
21 กุมภาพันธ์ 2488 วันที่ 3 ของการยกพลขึ้นบกที่อิโว จิมา…
การเข้าตีเพื่อยึดที่มั่นสำคัญสุดท้ายคือเขาซูริบาชิเริ่มต้นด้วย “การยิงเตรียม – Preparation Fire” อันประกอบด้วยการโจมตีทางอากาศด้วยจรวดรวมทั้งระเบิดชนิดและขนาดต่างๆ โดยเครื่องบิน 48 ลำพร้อมๆ กับการระดมยิงจากปืนเรือและปืนใหญ่สนามจำนวนนับไม่ถ้วนทำให้ภูเขาทั้งลูกสั่นสะเทือนราวกับภูเขาไฟในอดีตลูกนี้กำลังจะคืนชีพระเบิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เหล่านาวิกโยธินเจนศึกที่วางกำลังรายล้อมภูเขาลูกนี้ต่างซุกตัวลงตามที่กำบังของตน ขณะที่เศษดินเศษหินรวมทั้งสะเก็ดระเบิดปลิวว่อนไปทั่ว

เมื่อการยิงเตรียมเพื่อทำลายที่หมายครั้งสุดท้ายสิ้นสุดลง นาวิกโยธินอเมริกันก็เริ่มเคลื่อนออกจากที่กำบังของตนเมื่อเวลา 8.25 น. แล้วขยับแนวการวางกำลังรุกเข้าหาที่หมายผ่านบริเวณที่ราบโล่งเชิงเขาเข้าไป
ในขั้นแรกทุกสิ่งเบื้องหน้ายังคงดูสงบเงียบแต่ไม่นานก็มีเสียงปืนเล็กยาวยิงมา ติดตามด้วยปืนกล แล้วกลายเป็นการยิงต่อต้านอย่างหนักหน่วงมากขึ้นตามลำดับ กระสุนปืนพุ่งหวีดหวิวสวนทางการเคลื่อนที่ กระสุนจากเครื่องยิงลูกระเบิดเริ่มตกลงมาอย่างหนาแน่น ทำให้บริเวณนั้นคละคลุ้งไปด้วยเม็ดทรายที่กระเด็นกระจายขึ้นมาพร้อมกับสะเก็ดระเบิด เสียงกึกก้องของการระเบิดทวียิ่งขึ้นจนทำให้หูอื้อไปหมด แล้วกว่าจะรุกเข้าไปถึงเชิงเขาได้ นาวิกโยธินก็บาดเจ็บเสียชีวิตมากขึ้นตามลำดับ แต่ไม่มีใครหันหลังกลับ นาวิกโยธินหลายคนในหมวดที่ 3 ของกองพันที่ 2 ได้รับเหรียญกล้าหาญจากการเข้าโจมตีครั้งนี้ ด้วยการกวาดล้างที่มั่นใต้ดิน หลุมบุคคลจำนวนมากมายและถ้ำต่างๆ ที่ญี่ปุ่นซ่อนตัวอยู่ไปทีละแห่งๆ เป็นเวลาสองวัน การประจัญบานแบบตัวต่อตัวด้วยดาบปลายปืนกลายเป็นเรื่องปกติ
นาวิกโยธินคนหนึ่งประจันหน้ากับนายทหารญี่ปุ่นที่กวัดแกว่งดาบซามูไรประจำตัววิ่งสวนเข้ามาจะฟันเขาในระยะประชิด นาวิกโยธินผู้นั้นไม่สามารถใช้อาวุธปืนได้จึงตัดสินใจอย่างที่คิดว่าดีที่สุดแล้วด้วยการจับดาบนั้นไว้ด้วยมือเปล่าและพยายามแย่งดาบมาจนได้ จากนั้นจึงฟันนายทหารญี่ปุ่นเจ้าของดาบผู้นั้นจนตาย แต่มือทั้งสองข้างของเขาก็ถูกคมดาบบาดเหวอะหวะโชกเลือด

เย็นวันนั้นปรากฏว่าฝนได้ตกลงมา และตกติดต่อไปจนเช้าวันรุ่งขึ้น เกิดเมฆหมอกเบาบางปกคลุมไปทั่วยอดเขาลูกนี้ซึ่งควรจะดูงดงามหากไม่มีการประหัตประหารกัน ภายในที่มั่นต่างๆ ใต้ภูเขาลูกนี้ซึ่งยังไม่ถูกยึดโดยนาวิกโยธินอเมริกันยังคงมีทหารญี่ปุ่นอยู่อีกราว 800 – 900 นาย หลายต่อหลายนายมีบาดแผลจากไฟไหม้เพราะเครื่องพ่นไฟหรือจากการถูกยิง บางคนก็นั่งเขียนจดหมายฉบับสุดท้ายโดยหวังว่าอาจไปถึงมือครอบครัวของตนได้
พันเอกอัตสุชิ ผู้ควบคุมการป้องกันเขาลูกนี้ ส่งวิทยุรายงานสถานการณ์ไปยังพลโทคูริบายาชิขออนุญาตนำทหารที่เหลืออยู่ออกจากหลืบถ้ำรุกเข้าหาข้าศึกเป็นครั้งสุดท้ายแบบยอมตายเพื่อสร้างความเสียหายแก่ศัตรูให้มากที่สุด…
แต่คูริบายาชิไม่อนุญาต…

ในวันนี้ ทหารอเมริกัน 3 กองพันของกรมทหารราบที่ 28 ได้บีบกระชับบริเวณเชิงเขาซูริบายาชิเข้าไปอีกท่ามกลางสายฝนที่ยังคงตกกระหน่ำ นายทหารนาวิกโยธินผู้หนึ่งที่พูดญี่ปุ่นได้ ใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้ทหารญี่ปุ่นที่ป้องกันเขาลูกนี้ยอมจำนนเสีย แต่ฝ่ายญี่ปุ่นมิได้ใส่ใจ จนกระทั่งสิ้นวัน ฝ่ายอเมริกันก็สามารถเข้ายึดภูเขาลูกนี้ไว้ได้เป็นส่วนใหญ่
การสู้รบยังคงดุเดือด ไม่มีคำว่า “ยอมจำนน” ในความนึกคิดของทหารแห่งองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ จนกระทั่งอีก 3 วันต่อมาคือ 23 กุมภาพันธ์ นาวิกโยธินอเมริกันจึงสามารถรุกขึ้นไปถึงยอดเขาซูริบายาชิได้และได้ปักธงอเมริกันสัญลักษณ์แห่งชัยชนะบนยอดเขาลูกนี้เมื่อเวลา 10.20 น.
อิโว จิมา คือดินแดนแท้ๆ ของญี่ปุ่นแห่งแรกที่ถูกฝ่ายอเมริกันเข้ายึดได้ในสงครามโลกครั้งที่สอง

ในขณะที่ปักธงเสร็จลงนั้น ทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งก็โผล่ออกมาจากถ้ำที่อยู่ห่างออกไปไม่มากนักแล้วยิงมายังทหารอเมริกัน แต่กระสุนพลาดเป้าหมายและฝ่ายอเมริกันยิงตอบทันทีด้วยปืนอัตโนมัติ ทำให้ทหารญี่ปุ่นผู้นั้นเสียชีวิตลง จากนั้นมีทหารญี่ปุ่นอีกคนหนึ่งโผล่ออกมาจากถ้ำแห่งเดิมนั้น ในมือถือดาบที่หักครึ่งอยู่แล้ววิ่งถลันเข้ามาจะฟันคณะปักธงแต่ก็ถูกยิงล้มลงก่อนจะเข้ามาถึง และเมื่อนาวิกโยธินเคลื่อนเข้าไปใกล้ถ้ำนั่น ก็ถูกสกัดด้วยระเบิดมือที่ขว้างออกมา ดังนั้น ฝ่ายอเมริกันจึงขว้างระเบิดตอบโต้ไป ติดตามด้วยการใช้เครื่องพ่นไฟฉีดเข้าไปในความมืดที่ข้าศึกกำบังตัวอยู่ แล้วใช้ดินระเบิดทำลายปากถ้ำให้ถล่มลงปิดทางเข้าออกเสีย
เมื่อสำรวจถ้ำนี้ในเวลาต่อมา ก็พบศพทหารญี่ปุ่นอยู่ในนั้นไม่น้อยกว่า 150 ศพ
หลังจากปักธงได้ 3 ชั่วโมง พันโท แซนด์เลอร์ จอห์นสัน ผู้บังคับกองพันเห็นว่าผืนธงนั้นเล็กเกินไป ควรใช้ธงผืนใหญ่กว่านี้มาปักแทนเพื่อให้นาวิกโยธินทุกคนบนเกาะรวมทั้งกำลังบนเรือที่ยังคงลอยลำรายล้อมอยู่จำนวนมากสามารถมองเห็นได้โดยทั่วกัน เขาจึงส่งนาวิกโยธิน 4 คนไปหาธงมาใหม่ จนได้ธงขนาด 4 ฟุต คูณ 4 ฟุต 8 นิ้วจากเรือระบายพลลำหนึ่ง
ภาพการปักธงครั้งที่สองนี้ในที่สุดจะกลายเป็นภาพที่ขึ้นชื่อยิ่งภาพหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง และต่อมาไม่นานหลังสิ้นสุดสงครามก็ได้มีการสร้างเป็นอนุสาวรีย์ไว้ที่กรุงวอชิงตันด้วย

การยึดเขาซูริบาชิได้ ทำให้ฝ่ายอเมริกันสามารถควบคุมบริเวณพื้นที่ทางใต้ของอิโว จิมาไว้ได้ถึง 1 ใน 3 และในวันเดียวกันนี้กองพลนาวิกโยธินที่ 3 ก็ได้ยกพลขึ้นบกตามมาเพื่อเสริมกำลัง เนื่องจากการสู้รบตลอด 5 วันที่ผ่านมา ทำให้มีนาวิกโยธินบาดเจ็บกว่า 6,000 นายและ 1,600 นายเสียชีวิต ขณะที่บริเวณที่ราบสูงทางด้านเหนือของเกาะก็ยังเต็มไปด้วยที่มั่นของทหารญี่ปุ่นซึ่งยังไม่มีท่าทียอมจำนน
พลโทคูริบายาชิยังคงกำชับทหารของเขาทุกคนพยายามสังหารข้าศึกให้ได้อย่างน้อย 10 คน…ก่อนตาย.
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ใน www.marumura.com