![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย
เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนารท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธ ใน www.marumura.com

วีรชนยุวชนเมืองคอน
บทบาทในประวัติศาสตร์ของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ และหลังจากนั้นอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ในด้านต่างๆ ทั้งด้านบวกและลบ แต่สำหรับผมแล้ว เห็นว่าบทบาทด้านหนึ่งที่ท่านได้ดำเนินอย่างได้ผลก็คือการปลุกจิตใจรักชาติให้กับคนไทยในยุคก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของกิจการยุวชนทหารนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่น่าให้ความนิยมเป็นอย่างยิ่ง
ยุวชนทหารนครศรีธรรมราชอาจไม่มีบทบาทต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารหาญแห่งค่ายวชิราวุธ เนื่องจากมีคำสั่งให้หยุดยิงเสียก่อน ทั้งๆ ที่ได้รับมอบภารกิจเตรียมเข้าร่วมรบแล้วก็ตาม แต่ในบันทึกของ พ.อ.สะอาด ขมะสุนทร ทำให้ผมเห็นภาพเลือดรักชาติของชาวนครศรีธรรมราชในเช้าวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ได้อย่างชัดเจน…
…ที่ที่รวมพล นอกจากยุวชนทหารที่มาเข้าที่รวมพลตาม “แผน ๑ ต่อ ๗” ของหน่วยฝึกแล้ว ยังมีครูชายหญิง ลูกเสือ กับนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ และประชาชนทั้งชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมอีกประมาณ ๑๕๐ คนชุมนุมอยู่ด้วย ดังนั้นพอถึงที่รวมพลก็ต้องเสียเวลาเล่าเหตุการณ์รบให้บรรดาผู้มาชุมนุมที่เข้ารุมล้อมรถอีกประมาณ ๑ นาทีแล้วจึงขอตัวเพื่อปฏิบัติภารกิจที่จำเป็นต่อไป
จ.ส.อ.ประมวล ลิ้มศิริกุล จ่าหน่วยรายงานผลการปฏิบัติตาม “แผน ๑ ต่อ ๗” ว่า “ยุวชนทหารมาเข้าที่รวมพลแล้วประมาณ ๓๐๐ คน ยุวชนทหารที่อยู่ไกลยังทยอยมาสมทบอยู่เรื่อยๆ จัดแบ่งยุวชนทหารรุ่นใหญ่ (ยุวชนทหารชั้น ๓ ที่รับการฝึกจวนจะจบหลักสูตร ฝึกยิง ปลย. ด้วยกระสุนซ้อมรบและกระสุนซ้อมยิงแล้ว กับไปฝึกภาคสนาม (ซ้อมรบ)ในภูมิประเทศที่เป็นป่าและทุ่งนาห่างจากตัวเมืองประมาณ ๘ ก.ม. ติดต่อกัน ๗ วันมาแล้ว โดยยุวชนทหารทุกคนมีอาวุธ ปลย.ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยเหนือครบทุกคน) ยุวชนทหารเหล่านี้แบ่งเป็น ๔ หมวด หมวดละประมาณ ๔ คน หมวดละ ๔ หมู่ แต่ละหมู่แต่งตั้งยุวชนทหารให้ทำหน้าที่ ผบ.หมู่…
ก่อนยุวชนทหารทั้งหมดนี้จะขึ้นรถเพื่อเข้าปฏิบัติการในเขตทหารเป็นส่วนแรกก็ได้รับคำชี้แจงว่า…
“การปฏิบัติการครั้งนี้ อาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต จึงต้องการแต่ผู้สมัครใจเท่านั้น ผู้ที่ไม่สมัครใจไม่ต้องขึ้นรถ และไม่ถือเป็นเรื่องเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น” ปรากฏว่ายุวชนทหารส่วนแรกขึ้นรถทุกคนด้วยความเต็มใจ…
ขบวนรถส่วนแรกของยุวชนทหารมาหยุดรับปืนเล็กยาวและปืนกลเบาที่กองกำกับการตำรวจเมืองนครศรีธรรมราช…
ขณะที่ยุวชนทหารในรถคันที่ ๑ กับบางส่วนในรถคันที่ ๒ ขึ้นไปรับอาวุธในความควบคุมของ ผบ.หมวดทั้ง ๒ คน ก็ได้สังเกตเห็นยุวชนทหารบนรถที่จอดอยู่ริมถนนราชดำเนินฝั่งตะวันตกหน้า กก.ตร. บางคนก้มตัวต่ำผิดปกติ คล้ายพยายามหลบหน้า จึงตรวจจำนวนที่อยู่บนรถอีกครั้งหนึ่ง พบยุวชนทหารรุ่นใหญ่ของหมวด ๓,๔ กับยุวชนทหารรุ่นกลางรวม ๕ คนติดมากับรถคันที่ ๒,๓ จึงให้ลงจากรถเพื่อสอบถามได้ความว่า
“อยากไปรบกับผู้รุกรานเป็นพวกแรก ถ้าไปพร้อมกับส่วนหลังเกรงจะไม่ได้รบ ขอให้ได้ไปพร้อมกับส่วนแรกด้วย”
ทั้งๆ ที่เข้าใจเจตนาดีของ ยวท.ทั้ง ๕ แต่เพื่อฝึกให้เคารพต่อคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ครู อาจารย์ และอยู่ในวินัยโดยเคร่งครัด จึงอบรมทั้ง ๕ ต่อหน้ายุวชนทหารที่อยู่บนรถ ท่ามกลางประชาชนส่วนมากเป็นชาวไทยมุสลิมที่มาสังเกตการณ์ประมาณ ๔๐ คนด้วยว่า “ในสภาวะคับขันเช่นนี้ ถ้าเป็นทหารที่ปฏิบัติการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา แม้จะด้วยเจตนาดีก็จะต้องถูกพิจารณาโทษสถานหนัก” แล้วจึงสั่งให้ทั้ง ๕ กลับไปที่รวมพล เพื่อเดินทางเข้าเขต มทบ.๖ พร้อมกับยุวชนทหารส่วนหลัง…
…ระหว่างเดินทาง มีชาวเมืองนครฯ ทั้งชายหญิงจำนวนมาก คงจะรู้ว่ายุวชนทหารกำลังจะเดินทางไป “สู้ศึก” จึงออกมายืนอยู่สองฟากถนนราชดำเนินเพื่อส่งยุวชนทหารไปสู้ศึกด้วยสีหน้ายิ้มแย้มปราศจากกังวล ทั้งๆ ที่บุตรหลานบางคนกำลังจะเดินทางไปปฏิบัติการเสี่ยงอันตราย บางคนถือธงชาติไทย โบกและส่งเสียงอวยพร
แม้จะไม่ได้เข้าร่วมรบกับทหาร แต่ต่อมายุวชนทหารเมืองคอนก็จะได้เข้าร่วมกับทหารตำรวจและข้าราชการพลเรือนในการดูแลบ้านเมืองในสภาพที่คล้ายถูกยึดครองอย่างเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งสมควรยึดถือเป็นอีกเรื่องราวในประวัติศาสตร์อันน่าภาคภูมิใจของคนเมืองคอน
ผมจึงนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังเพื่อย้อนรำลึกถึงเรื่องราวของเยาวชนเมืองคอนในสมัยนั้น…
ทุกวันนี้ ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่กรุงเทพฯ ครั้งใดผมต้องยกมือไหว้ ซึ่งถือปฏิบัติเช่นนี้มาแต่ครั้งยังเป็นเด็ก ผมเพียงรับรู้มาว่าที่นี่บรรจุอัฐิของวีรชนครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา หนึ่งในรูปปั้นแทนทหารเหล่าทัพต่างๆ มีรูปปั้นของยุวชนทหารอยู่ด้วย ซึ่งผมสงสัยในใจว่า วันนี้ยังจะมีใครรับรู้วีรกรรมของพวกเขาอีกหรือไม่ โดยเฉพาะที่หลายคนอาจมองข้าม-ยุวชนทหาร
ทั้งหมดนี้คืออีกรอยล้อประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่แห่งจิตใจรักชาติของคนเมืองคอนที่ไม่ควรลืมเลือนไปกับกาลเวลา.
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ใน www.marumura.com